ขบวนเชิญปราสาทและส่งสการ เจ้าดวงเดือน ณ เชียงใหม่

การส่งสการเป็นพิธีกรรมการปลงศพอย่างชาวล้านนา  ที่บุตรหลานญาติมิตรจะนำสรีร่างผู้วายชนม์ไปประกอบพิธีที่ป่าช้า    ในขบวนเชิญปราสาทส่งสการเจ้าดวงเดือน  ณ  เชียงใหม่  ในวันเสาร์  ที่     ๑๑  กุมภาพันธ์  พ.ศ.๒๕๖๖  จะประกอบด้วยส่วนต่างๆ ดังต่อไปนี้

            ๑.  กังสดาลนำขบวน

            ๒.  ตุงสามหางและถุงย่ามใส่ห่อข้าวด่วน

            ๓.  หม้อไฟ

            ๔.  เสลี่ยงครูบาพระเถระเทศนาธรรมพื้นเมืองล้านนา

            ๕.  เสลี่ยงรูปเจ้าดวงเดือน  ณ  เชียงใหม่

            ๖.  เสลี่ยงตัวเปิ้ง(ปีเกิด)ของเจ้าดวงเดือน  ณ  เชียงใหม่

            ๗.  ขันข้าวตอกดอกไม้ ที่นำมาร่วมพิธีของชาวบ้าน

            ๘.  ขันโตกผ้าไตรและขันโตกดอกไม้จันทน์

            ๙.  หาบมะนาวสำหรับทิ้งทาน(โหงมะนาว)  หาบน้ำอาบ 

            ๑๐.  บุตรธิดาของเจ้าดวงเดือน  ณ  เชียงใหม่  เชิญเครื่องสักการะ

            ๑๑.  เสลี่ยงเครื่องสักการะ  คือ  หมากสุ่ม  หมากเบ็ง  ต้นดอก  ต้นผึ้ง  และต้นเทียน

            ๑๒.  วงแห่ปี่พาทย์ล้านนา

            ๑๓.  เสลี่ยงเครื่องใช้ของเจ้าดวงเดือน  ณ  เชียงใหม่  คือ  น้ำต้น(คนโท)  ขันหมาก  และหมอนอิง

            ๑๔.  สามเณรจำนวน  ๙๔  รูปเท่าอายุเจ้าดวงเดือน  ณ  เชียงใหม่  เดินจูงฝ้ายเชิญปราสาทอยู่ตรงกลาง  และผู้ร่วมงานเดินจูงเชือกเชิญปราสาทขนาบข้างทั้ง  ๒  ของสามเณร

            ๑๕.  ปานใช้ตีประกอบการเดิน

            ๑๖.  ปราสาทห้ายอดเชิญสรีระเจ้าดวงเดือน  ณ  เชียงใหม่

            ๑๗.  วงแห่ปี่พาทย์ล้านนา

            ๑๘.  ผู้มาร่วมงานเดินตามส่งสการ

            ขบวนส่งสการของเจ้าดวงเดือน  ณ  เชียงใหม่  ทั้ง  ๑๘  ลำดับจัดขึ้นตามจารีตโบราณล้านนา  มีเหตุผลในการจัดตามคติความเชื่อดังต่อไปนี้

๑.  กังสดาลนำขบวน

            กังสดาล  คือ  แผ่นโลหะที่ตีแล้วให้เกิดเสียงกังวาน หล่อจากสำริดหรือทองเหลือง  รูปร่างคล้ายพัดคลี่  ด้านบนเจาะรูแขวน  ด้านล่างเป็นวงโค้ง  ตีเพื่อส่งสัญญาณให้รู้ว่ามีขบวนพิธีกำลังเคลื่อนมา  ทางด้านความเชื่อเชื่อว่าเสียงตีกังสดาลเป็นสัญญาณ ที่นำทางให้ดวงวิญญาณของผู้วายชนม์ได้เดินทางไปสู่ภพภูมิที่ดี

๒.  ตุงสามหาง

            ตุงสามหางคือผืนธงที่ทำจากผ้าขาวหรือกระดาษสีขาว  ส่วนล่างทำเป็น  ๓  ชาย  ส่วนบนตั้งแต่หัวตุงถึงเอวตุงมีลักษณะเป็นรูปกายมนุษย์  ประดับตกแต่งด้วยลวดลายกระดาษสี   มีการเขียนชื่อสกุล  อายุ  หรือรูปปีนักษัตรของผู้วายชนม์ติดไว้ที่ตุง  ๓  หาง  เพื่อให้เป็นเครื่องหมายแทนบุคคลผู้วายชนม์  คติของการทำตุงเป็น  ๓  หาง มีอธิบายไว้หลายประการ  ทั้งหมายถึงไตรลักษณ์  คือ  อนิจจัง  ทุกขัง  อนัตตา  หรืออกุศลมูล  ๓  คือ  โลภะ  โทสะ  โมหะ  หรือภพทั้ง  ๓  คือ  กามภพ  รูปภพ  อรูปภพ  และไตรวัฏฏ์  คือ  กิเลส  กรรม  และวิบาก  ตุงสามหางจะผูกติดกับปลายไม้ปักไว้ข้างโลงศพ  เมื่อเคลื่อนศพสู่ป้าช้าจะมีคนแบกตุงสามหางไปในขบวน  เป็นสัญลักษณ์ผู้คนทราบว่ามีขบวนศพกำลังเคลื่อนมา  ขณะเดียวกันก็สื่อถึงการนำดวงวิญญาณของผู้วายชนม์ไปสู่ภพภูมิที่ดี     

๓.  ถุงย่ามห่อข้าวด่วน

            ถุงย่ามห่อข้าวด่วน  ทำจากผ้าขาวหรือกระดาษสาตัดเย็บเป็นถุงย่าม  อาจมีการประดับด้วยลวดลายกระดาษสี  ภายในถุงห่อข้าวด่วนจะใส่ไข่ต้ม  ห่อข้าวเหนียว  อาหาร  ผลไม้  หมาก  เมี่ยง  บุหรี่  และเข็ม  ทำขึ้นด้วยความเชื่อว่าใช้เป็นเสบียงอาหารให้ผู้วายชนม์ในการเดินทางไปสู่โลกหน้า  เข็มมีไว้ให้ดวงวิญญาณใช้เย็บเสื้อผ้าที่ขาดในระหว่างการเดินทางไปสู่ภพภูมิอื่น  คนที่ทำหน้าที่แบกตุงสามหางจะสะพายถุงห่อข้าวเดินนำหน้าขบวนศพ  การทำถุงข้าวด่วนจึงเป็นการแสดงถึงความรักและกตัญญูต่อผู้ที่จากไป   และแสดงถึงความห่วงใยของผู้มีชีวิตอยู่เบื้องหลัง ปรารถนาให้ผู้วายชนม์ได้มีเสบียงอาหารนำไปเป็นปัจจัยในการเดินทางไปสู่โลกหน้า 

๔.  หม้อไฟ

            หม้อไฟคือหม้อดินเผาที่ภายในบรรจุเชื้อไฟ  เช่น  กาบมะพร้าวแห้ง  และเศษผ้า เศษไม้  เป็นต้น  เพื่อนำไปเป็นเชื้อเพลิงในการฌาปนกิจ  บางแห่งหากไม่ใช้หม้อไฟก็ใช้ผ้าห่มทั้งผืนพันให้เป็นเกลียว  จุดไฟที่ปลายด้านใดด้านหนึ่งเรียกว่า  “มุด”  หรือ  “หมุด”  หรือบางแห่งก็ใช้กิ่งไม้แห้งมามัดรวมกันเรียกว่า  “ไม้แคร่”  ด้วยมีความเชื่อว่าถ้าไปถึงป่าช้าแล้วหากลืมไฟที่เผาศพห้ามกลับมาเอาไฟที่บ้าน  ต้องหาวิธีทำให้มีไฟขึ้นภายในป่าช้าเท่านั้น  เพื่อเป็นการจัดการให้รอบคอบจึงนำหม้อไฟหรือมุดหรือไม้แคร่ไปในขบวนศพตั้งแต่ออกจากบ้านและบางแห่งก็เชื่อว่าหม้อไฟหรือมุดหรือไม้แคร่เปรียบเสมือนแสงสว่างนำทางในการเดินทางให้กับดวงวิญญาณของผู้วายชนม์  ด้วยเวลากลางวันที่ทำการชักลากขบวนศพไปสู่ป่าช้าถือว่าเป็นช่วงเวลากลางคืนในโลกของวิญญาณ  บ้างก็เชื่อว่าเวลาในโลกวิญญาณสลับกันกับเวลาในโลกของมนุษย์  

๕.  พระเถระเทศนาธรรมนำปราสาทศพส่งสการ

            พระเถระนั่งเสลี่ยงอ่านคัมภีร์พระธรรมนำขบวนส่งสการ เชื่อว่าการเทศนาพระธรรมนำขบวนส่งสการศพจะเป็นอานิสงส์นำทางให้ดวงวิญญาณผู้วายชนม์ไปสู่สุขคติ  มีพระธรรมคำสอนอันประเสริฐเป็นสิ่งนำทางในการไปสู่โลกหน้า

๖.  รูปเจ้าดวงเดือน  ณ  เชียงใหม่

            เป็นรูปภาพเจ้าดวงเดือน  ณ  เชียงใหม่  ผู้วายชนม์

๗.  ตัวเปิ้งของเจ้าดวงเดือน  ณ  เชียงใหม่

            ตัวเปิ้งเป็นรูปนักษัตรประจำปีเกิดแทนตัวของผู้วายชนม์  ในยุคก่อนที่ไม่มีภาพถ่ายจึงทำเป็นรูปตัวเปิ้งเพื่อเป็นตัวแทนตัวผู้วายชนม์  ตัวเปิ้งของเจ้าดวงเดือน  ณ  เชียงใหม่เป็นรูปงู  ด้วยท่านถือกำเนิดในปีใส้หรือปีมะเส็ง

๘.  ขันข้าวตอกดอกไม้

            ขันข้าวตอกดอกไม้เป็นเครื่องประกอบพิธีกรรม คนภาคเหนือมักเรียกภาชนะที่บรรจุข้าวตอกดอกไม้ว่า “ขัน”  รวมๆ กันไป  บางทีอาจเป็นพาน บางทีอาจเป็นพานพุ่ม และบางทีก็เป็นขัน

๙.  ขันโตกผ้าไตรและขันโตกดอกไม้จันทน์

            ผ้าไตรใช้สำหรับบังสุกุลแก่ผู้วายชนม์  และดอกไม้จันทน์ใช้วางแสดงความรักอาลัยและเคารพต่อผู้วายชนม์

๑๐.  หาบมะนาวสำหรับการทิ้งทาน หาบน้ำอาบ  และผู้เฒ่าผู้แก่ถือขันข้าวตอกดอกไม้โปรย 

            การโหงมะนาวหรือโยนมะนาวทิ้งทานทำกันหลายรูปแบบ  หากเป็นเจ้าผู้ครองนครหรือเจ้านายก็จะนำฉลากมีชื่อข้าทาสบริวารสัตว์สิ่งของที่จะให้ทานใส่ไว้ในผลมะนาว  เมื่อทำการโปรยทานแล้วผู้ใดเก็บผลมะนาวได้ฉลากรายชื่อสิ่งไหน  ทางเจ้าภาพก็จะมอบสิ่งนั้นให้ทานเพื่ออุทิศเป็นกุศลแก่ผู้วายชนม์  ส่วนชาวบ้านทั่วไปนิยมใช้เหรียญเงินสอดใส่ในผลมะนาวที่ผ่ากลางในการโปรยทาน  มีคนหาบน้ำอาบเป็นน้ำสะอาดที่หาบไปจากบ้าน  เพื่อใช้อาบน้ำให้ศพพอเป็นพิธีที่ป่าช้าก่อนเผา  และมีการโปรยข้าวตอกดอกไม้ระหว่างทางที่ขบวนผ่าน  เพื่อแสดงถึงการเคารพสักการะดวงวิญญาณของผู้วายชนม์

๑๑.  บุตรธิดาของเจ้าดวงเดือน  ณ  เชียงใหม่  ถือเครื่องสักการะ

            บุตรธิดาของเจ้าดวงเดือน  ณ  เชียงใหม่  ถือเครื่องสักการะ  เพื่อใช้เคารพสักการะดวงวิญญาณของเจ้าแม่

๑๒.  เสลี่ยงเครื่องสักการะ  คือ  หมากสุ่ม  หมากเบ็ง  ต้นดอก  ต้นผึ้ง  และต้นเทียน

            เครื่องสักการะ  อันประกอบด้วย  หมากสุ่ม  หมากเบ็ง  ต้นดอก  ต้นผึ้ง  และต้นเทียน  เป็นประณีตศิลป์ของช่างศิลปะล้านนา   นิยมใช้ในงานพระศาสนาและงานที่สำคัญอื่นๆ

๑๓.  วงแห่ปี่พาทย์ล้านนา

            วงแห่ปี่พาทย์ล้านนาใช้เป็นเครื่องประโคมระหว่างตั้งศพที่บ้าน   ในขณะชักลากปราสาทศพ  และประกอบพิธีกรรมที่ป่าช้า  ตามจารีตโบราณวงแห่ปี่พาทย์ล้านนาที่บรรเลงแห่ชักลากปราสาทศพใช้เฉพาะสำหรับงานศพของเจ้านายและครูบาพระเถระเท่านั้น  การแห่ปี่พาทย์จึงใช้ทั้งบรรเลงเป็นขับกล่อมลดความโศกเศร้า  และทำให้เกิดจินตภาพถึงวิมานสรวงสวรรค์ชั้นฟ้าที่ผู้วายชนม์กำลังจะเดินทางไปสู่สุขคติ

๑๔.  เสลี่ยงเครื่องใช้ของเจ้าดวงเดือน  ณ  เชียงใหม่  คือ น้ำต้น(คนโท)  ขันหมาก  และหมอนอิงสามเหลี่ยม

            เป็นเครื่องใช้ที่เจ้าดวงเดือน ณ เชียงใหม่ เคยใช้สอยใกล้ตัว สมัยโบราณก็ถือว่าเครื่องใช้ไม้สอยอันวิจิตรงดงามบางอย่างเป็นเครื่องประดับยศไปด้วย

๑๕.  สามเณรจำนวน  ๙๔  รูปเท่าอายุเจ้าดวงเดือน  ณ  เชียงใหม่  เดินจูงฝ้ายเชิญปราสาทอยู่ตรงกลาง  และผู้ร่วมงานเดินจูงเชือกเชิญปราสาทขนาบข้างทั้ง  ๒  ของสามเณร

            สามเณรจำนวน  ๙๔  รูปเท่าอายุของเจ้าดวงเดือน  ณ  เชียงใหม่  ฝ้ายต่อง (บ่วงฝ้าย) ที่ใช้จูงจากปราสาทมี  ๗  บ่วงผูกโยงสลับกันไป  แล้วนำปลายฝ้ายต่องไปผูกโยงกับโลงศพด้านปลายเท้า  จารีตบางแห่งใช้ฝ้ายต่องกับศพของผู้หญิง  ๗  ต่อง  ศพของผู้ชาย  ๙  ต่อง  ตามคติการนับวงศ์ตระกูล  ๗  ชั่วอายุคนและ  ๙  ชั่วอายุคนดังคำกล่าวที่ว่า  “๗  เจ้นขะกูลเป็นเค้า  ๙  เจ้นขะกูลเป็นแดน”  แต่บางแห่งก็ใช้เหมือนกันทั้งชายและหญิงในจำนวน  ๙  ต่อง  หมายถึงไตรสรณคมน์ที่เป็นเครื่องนำไปสู่สุขคติภูมิ  คือ  การเปล่งวาจาถึงพระพุทธเจ้า  ๓  ครั้ง  พระธรรม  ๓  ครั้ง  พระสงฆ์  ๓  ครั้ง  เรียกว่า  “สรณคมน์  ๙  บั้ง”  หรือหมายถึงวงศ์ตระกูลทั้ง  ๙  ลำดับชั้น  คือ  บรรพบุรุษ  ๔  ชั่วคน  ตนเองอยู่ตรงกลาง  และทายาทบุตรหลานอีก  ๔  ชั่วคน

๑๖.  ปาน  (เครื่องตีประกอบพิธีกรรมชนิดหนึ่ง)

            ปาน  คือ  แผ่นโลหะตีขึ้นรูปจากทองเหลือง  รูปร่างคล้ายฆ้องแต่ไม่มีปุ่มตรงกลาง  ตีเพื่อส่งสัญญาณให้รู้ว่ามีขบวนปราสาทศพกำลังเคลื่อนมา  โบราณจะตีปานระหว่างชักลากปราสาทศพตั้งแต่หัวขบวนไปถึงท้ายขบวนวนไปมาจนกว่าจะถึงป่าช้า  ทางด้านความเชื่อเชื่อว่าเป็นการตีเป็นสัญญาณเพื่อนำดวงวิญญาณผู้วายชนม์ไปสู่ภพภูมิที่ดีเช่นเดียวกับการตีกังสดาล  ด้วยถือคติเลียนแบบตามตำนานพระเจ้าพรหมมหาราชใช้ปานที่ทำด้วยทองคำตีนำช้างชื่อปานคำขึ้นจากแม่น้ำโขงมาเป็นช้างคู่พระบารมี  เชื่อว่าเสียงจากปานมีฤทธานุภาพนำพาดวงวิญญาณผู้วายชนม์ขึ้นสู่สวรรค์ชั้นฟ้า     

๑๗.  ปราสาทห้ายอดเชิญสรีระเจ้าดวงเดือน  ณ  เชียงใหม่

            ปราสาทศพสร้างขึ้นเพื่อเป็นสัญลักษณ์ของวิมานปราสาทบนสรวงสวรรค์  หากเป็นระดับเจ้าผู้ครองนครก็แทนปราสาทเวชไชยนต์บนยอดเขาพระสุเมรุบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์  ปราสาทศพตามจารีตโบราณล้านนาใช้ใส่ศพของชนชั้นเจ้านาย  มีทั้ง  ๑  ยอด  ๓  ยอด  ๕  ยอด  ๗  ยอด  จนถึง  ๙  ยอดตามฐานันดรศักดิ์  หากเป็นระดับเจ้าผู้ครองนครและเจ้านายชั้นสูงหรือพระสงฆ์ชั้นผู้ใหญ่ก็จะสร้างปราสาทศพเทินบนหลังนกหัสดีลิงค์หรือสัตว์หิมพานต์ต่าง ๆ  ด้วยมีความเชื่อว่าปราสาทศพจะเป็นวิมานปราสาทให้ดวงวิญญาณได้อาศัยเมื่อกลับขึ้นสู่สรวงสวรรค์  ในกรณีของเจ้าดวงเดือน  ณ  เชียงใหม่  เป็นเจ้านายในชั้นธิดาของเจ้านายชั้นสัญญาบัตรคือเจ้าราชภาคินัย (เจ้าน้อยเมืองชื่น  ณ  เชียงใหม่)  ของนครเชียงใหม่  เป็นเจ้านายที่มีอาวุโสสูงและทำคุณประโยชน์ต่อบ้านเมืองเชียงใหม่เป็นอันมาก  จึงมีความเห็นร่วมกันสร้างปราสาท  ๕  ยอดเพื่อใช้ในพิธีนี้

๑๘.  วงแห่ปี่พาทย์ล้านนา

            วงแห่ปี่พาทย์ล้านนาใช้เป็นเครื่องประโคมระหว่างตั้งศพที่บ้าน  ชักลากปราสาทศพ  และประกอบพิธีกรรมที่ป่าช้า  ตามจารีตโบราณวงแห่ปี่พาทย์ล้านนาที่บรรเลงแห่ชักลากปราสาทศพใช้เฉพาะสำหรับงานศพของเจ้านายและครูบาพระเถระเท่านั้น  การแห่ปี่พาทย์จึงใช้ทั้งบรรเลงเป็นการขับกล่อมลดความโศกเศร้า  และทำให้เกิดจินตภาพถึงวิมานสรวงสวรรค์ชั้นฟ้าที่ผู้วายชนม์กำลังจะเดินทางไปสู่ เหตุที่ขบวนค่อนข้างยาว  จึงมีการประโคมแห่ปี่พาทย์ล้านนาตามหลังปราสาทศพอีก  ๑  คณะ เพื่อช่วยกำจัดความเงียบเหงาและเหนื่อยล้า

            ขบวนปราสาทศพตามจารีตล้านนา   จะมีทั้งผู้ที่เดินข้างหน้าทำการชักลากปราสาทศพ  และเดินตามปราสาทศพ   ในพิธีเชิญปราสาทศพนี้จะมีผู้รู้จักคุ้นเคยกับเจ้าดวงเดือน ณ เชียงใหม่จากจังหวัดต่างๆ มาร่วมเดิน “ส่งศพ” (ตามภาษาล้านนา) ด้วยที่ท้ายขบวน

เอกสารที่นำมาประกอบในการพิจารณาจัดขบวน

ประเพณีทำศพ  เอกสารชุดประเพณีเมืองเชียงใหม่  ของสภาวัฒนธรรมจังหวัดเชียงใหม่  พ.ศ.๒๕๔๓

ปริศนาธรรมในพิธีกรรมล้านนา  ของสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดเชียงใหม่  พ.ศ.๒๕๔๘

ส่งสการ  :  พิธีกรรมล้านนา  ของศาสตราจารย์เกียรติคุณมณี  พยอมยงค์  พ.ศ.๒๕๕๒

ประเพณีชีวิตคนเมือง  ของพ่อครูศรีเลา  เกษพรหม  พ.ศ.๒๕๔๔

โลกหน้าล้านนา  :  พัฒนาการการสร้างปราสาทศพต่างสัตว์หิมพานต์และการก่อกู่  ของภูเดช  แสนสา  พ.ศ.๒๕๕๖

ที่ปรึกษาในการจัดขบวน  พระครูอดุลสีลกิตติ์  (ประพัฒน์  ฐานวุฑฺโฒ)  วัดธาตุคำ  อำเภอเมืองเชียงใหม่  จังหวัดเชียงใหม่

ผู้จัดขบวน   อาจารย์รำพัด  โกฏิ์แก้ว  พิพิธภัณฑ์บ้านม่อนฝ้าย  อำเภอเมืองเชียงใหม่  จังหวัดเชียงใหม่ 

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Recommended Articles

0
Would love your thoughts, please comment.x
()
x