เจ้าดวงเดือน ณ เชียงใหม่ เจ้านายฝ่ายเหนืออาวุโส ปูชนียบุคคลผู้ที่ได้รับความเคารพนับถือ รักใคร่ของชาวบ้านและประชาชนทั่วไปทุกชนชั้น ท่านได้รับการประกาศสดุดีเกียรติคุณให้เป็น ผู้สูงอายุแห่งชาติ ประจำปีพุทธศักราช ๒๕๕๘ โดยคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ เจ้าดวงเดือน ณ เชียงใหม่ ได้รับการบันทึกชื่อให้เป็นบุคคลสำคัญในสารานุกรมประวัติศาสตร์ไทยล้านนา เพื่อเป็นเกียรติประวัติและอนุสรณ์แห่งคุณความดี 

เจ้าดวงเดือน ณ เชียงใหม่ ได้อุทิศตนเป็นแบบอย่างในการเป็นพลเมืองที่ดี บำเพ็ญประโยชน์ต่อชาติและสังคมส่วนรวม มีความกตัญญูต่อแผ่นดินเกิด สมกับที่เป็นสตรีสูงศักดิ์ งามพร้อมด้วยกริยามารยาทแบบกุลสตรีไทย ทั้งยังได้ดำรงเกียรติแห่งวงศ์ตระกูลได้อย่างสมบูรณ์ เจ้าดวงเดือน ณ เชียงใหม่ โปรดการแต่งกายแบบไทยล้านนา และรักที่จะส่งเสริมให้คนไทยรุ่นใหม่รักในความเป็นไทยและหวงแหนรักษาในวัฒนธรรมท้องถิ่นของตน ในปีพุทธศักราช ๒๕๖๔ คณะกรรมการเอกลักษณ์ของชาติ โดย นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ได้ประกาศเกียรติคุณยกย่อง เจ้าดวงเดือน ณ เชียงใหม่ ให้เป็นบุคคล “ค่าแห่งแผ่นดิน” ในด้านการส่งเสริมศาสนาและวัฒนธรรม

ชีวิตเมื่อเยาว์วัย

เจ้าดวงเดือน ณ เชียงใหม่ ได้เกิดและเติบโตในคุ้มหลวงของเจ้าแก้วนวรัฐ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่องค์สุดท้าย ท่านเกิดเมื่อวันพุธที่ ๒๒ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๔๗๒ ในวันวิสาขบูชา วันเพ็ญขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ ปีมะเส็ง จึงได้นามว่า “ดวงเดือน” เป็นธิดาคนที่ ๓ ในจำนวนบุตร-ธิดา ๔ คน ของอำมาตย์โท เจ้าราชภาคินัย (เมืองชื่น ณ เชียงใหม่) เจ้าสัญญาบัตรสองชั้น เสนายุติธรรม เจ้านายฝ่ายเหนือชั้นผู้ใหญ่ในยุคสมัยนั้น กับ หม่อมจันทน์เทพย์ ณ เชียงใหม่ ท่านมีเจ้าพี่เจ้าน้องร่วมอุทร คือ เจ้าอาทิตย์ เจ้านิภาพันธุ์ เจ้าดวงเดือน และเจ้าประเวศ ณ เชียงใหม่

ตั้งแต่เยาว์วัย เจ้าดวงเดือน ณ เชียงใหม่ ได้รับความเมตตาและอนุบาลเป็นอย่างดีจาก เจ้าบัวทิพย์ ณ เชียงใหม่ ผู้เป็นพระราชธิดาในเจ้าแก้วนวรัฐ โดยเจ้าบัวทิพย์ ณ เชียงใหม่ได้รับเจ้าดวงเดือน ณ เชียงใหม่ เป็นธิดาบุญธรรมและให้ความรักและอภิบาลเป็นอย่างดี ชีวิตของท่านจึงแวดล้อมไปด้วยขนบธรรมเนียมประเพณีแบบโบราณในคุ้มหลวงของเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ ท่านได้รับการฝึกอบรมอย่างเคร่งครัดจากคุ้มหลวง ทั้งทางด้านความเป็นกุลสตรี ด้านการเรือน ความเป็นแม่บ้าน และเรียนการแสดงฟ้อนรำ ขับกล่อมเพลงแบบราชสำนักสยามล้านนา เพื่อเป็นตัวแทนต้อนรับอาคันตุกะ ตลอดจนแสดงให้งานสาธารณกุศลต่างๆ โดยยุคสมัยนั้นนาฏศิลป์ การละครภายในคุ้มหลวงเป็นที่เฟื่องฟูมาก ท่านจึงได้รับการถ่ายทอดศิลปวัฒนธรรม ประเพณีด้านต่างๆโดยตรง ประกอบกับเจ้าพ่อเป็นผู้ทรงภูมิความรู้ เป็นลูกศิษย์ของสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ จึงได้รับการถ่ายทอดความรู้มาให้อย่างมากมาย หล่อหลอมให้เจ้าดวงเดือน ณ เชียงใหม่ เป็นผู้มีความรู้อย่างกว้างขวางและรอบด้าน

เจ้าดวงเดือน ณ เชียงใหม่ ได้รับการศึกษาในชั้นประถมศึกษาปีที่ ๑-๓ ที่โรงเรียนเรยีนาเชลีวิทยาลัย ชั้นประถมศึกษาปีที่ ๔-มัธยมศึกษาปีที่ ๓ ที่โรงเรียนวัฒโนทัยนอก (โรงเรียนคำเที่ยงอนุสรณ์ปัจจุบัน) มัธยมศึกษาปีที่ ๔-๕ ที่โรงเรียนวัฒโนทัยพายัพ มัธยมศึกษาปีที่ ๖ ที่โรงเรียนเรียนเรยีนาเชลีวิทยาลัย และ มัธยมศึกษาปีที่ ๗-๘ ที่โรงเรียนดาราวิทยาลัย

เมื่อจบการศึกษาชั้นมัธยมศึกษา เมื่ออายุ ๑๘ ปี ท่านได้เข้าศึกษาต่อที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แต่ความสำเร็จตามความปรารถนานั้นเป็นอันสะดุดลง เนื่องจากต้องกลับมาปรนนิบัติเจ้าพ่อซึ่งล้มป่วยลงด้วยโรคมะเร็งลำไส้ หมอวินิจฉัยว่าจะมีชีวิตอยู่ได้ไม่เกิน ๒ ปี ผู้เฒ่าผู้แก่จึงอยากให้ท่านได้ออกเรือนเป็นฝั่งเป็นฝาทันตา เจ้าพ่อจะได้หมดห่วง 

บุคคลที่มาสู่ขอเจ้าดวงเดือน ณ เชียงใหม่ เป็นชายหนุ่มรูปงาม ฐานะดี แม้จะเป็นคริสเตียน แต่ก็เป็นชายหนุ่มที่มีความรู้ ประพฤติดี และเป็นคนเหนือโดยกำเนิด ท่านผู้นั้นคือ คุณพิรุณ อินทราวุธ จบการศึกษาด้านกฎหมายจากมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง เป็นนักกฎหมายหนุ่มที่ประกอบอาชีพทนายความ สร้างชื่อเสียงจนเป็นที่รู้จักของคนทั่วไป ได้รับเลือกตั้งเป็นนายกเทศมนตรีนครเชียงใหม่ ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๙๒ ถึงปี พ.ศ. ๒๔๙๔ จึงลงสมัครเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดเชียงใหม่ ได้รับการเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. ๒๔๙๕ จากนั้นจึงหันกลับมาทำงานการเมืองท้องถิ่นอีกครั้ง และได้รับเลือกตั้งเป็นนายกเทศมนตรีนครเชียงใหม่ ในปี พ.ศ. ๒๔๙๗ คุณพิรุณ อินทราวุธ ถึงแก่อนิจกรรมเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๗ 

 เจ้าดวงเดือน ณ เชียงใหม่ สมรสกับคุณพิรุณ อินทราวุธ ท่านทั้งสองครองเรือนกัน โดยมีบุตร-ธิดาทั้งสิ้น ๔ คน คือ 

๑. ภาคินี ณ เชียงใหม่ (น้ำอ้อย)

๒. ภาคินัย ณ เชียงใหม่ (น้ำผึ้ง)

๓. เดือนเพ็ญ ภวัครานนท์ (น้ำมิ้น)

๔. พ-วงเดือน ยนตรรักษ์ (น้ำตาล)


ชีวิตหลังสมรสและการทำงาน

จากการที่เจ้าดวงเดือน ณ เชียงใหม่ ต้องก้าวข้ามชีวิตวัยรุ่นมาเป็นแม่บ้าน ท่านก็ไม่ได้ละทิ้งการเรียน ยังคงศึกษาเพิ่มเติมอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการอบรมหลักสูตรระยะสั้นต่างๆที่เป็นประโยชน์ และสามารถนำมาใช้อย่างกว้างขวาง

หลังสมรส คุณพิรุณ อินทราวุธ สามีของท่านได้เข้าสู่เส้นทางการเมือง โดยได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาเทศบาล และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เส้นทางการเป็นแม่บ้านของท่านได้เปิดออกสู่โลกกว้างนับตั้งแต่ครั้งนั้น โดยเฉพาะในวงการเมืองระดับชาติ เมื่อสามีของท่านได้รับการเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดเชียงใหม่ เมื่อเจ้าดวงเดือน ณ เชียงใหม่ อายุได้เพียง ๑๙ ปี แต่ก็สามารถทำหน้าที่ของตนได้อย่างดียิ่ง เวลามีงานเลี้ยงในวงการมักจะถูกเชิญให้ไปฟ้อนอยู่เสมอ เป็นที่เจริญตาเจริญใจของทุกผู้คน โดยเฉพาะจอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีในยุคนั้น เจ้าดวงเดือน ณ เชียงใหม่ เมื่อเป็นภรรยานักการเมืองแล้วก็ไม่อาจหยุดนิ่ง ครั้นถึงช่วงหาเสียงเพื่อเลือกตั้งผู้แทนราษฎร เจ้าดวงเดือนก็ได้ร่วมเคียงบ่าเคียงไหล่หาเสียงช่วยสามี โดยได้ร่วมปราศรัยหาเสียงมาหลายเวที บ่อยครั้งต้องขึ้นรถยนต์ไปต่อม้าหรือช้าง เพื่อแยกเวทีไปช่วยหาเสียงในต่างอำเภอ เมื่อสมัย ๗๐ กว่าปีที่แล้ว นับเป็นปรากฏการณ์ใหม่ของสังคมไทยสมัยนั้นที่เป็นสตรีคนแรกในส่วนภูมิภาคที่มีบทบาททางการเมืองเทียบเท่าบุรุษ มีส่วนร่วมอย่างเต็มที่ในระบอบประชาธิปไตย โดยเฉพาะในบทบาทภรรยานักการเมือง ซึ่งในสมัยนั้น ยังไม่ปรากฏว่ามีภรรยาของผู้แทนราษฎรคนไหนปราศรัยหาเสียงให้สามีมากนัก ยุคนั้นจึงทำให้มีแต่ผู้คนให้ความสนใจต้องการที่จะได้เห็นราชนิกุล ณ เชียงใหม่ ผู้นี้ขึ้นเวทีปราศรัยยิ่งนัก

จากการที่ท่านเป็นนักพูดที่มีวาทศิลป์และดึงดูดความสนใจคนฟังได้อย่างน่าทึ่ง ทั้งน้ำเสียง ลีลาท่าทาง แนวทางการพูดที่คมคาย มีเหตุผล และปฏิภาณ จึงเป็นที่ยกย่องอย่างมาก ซึ่งนอกจากการเป็นนักหนังสือพิมพ์แล้ว ท่านยังเป็นนักจัดรายการวิทยุดีเด่นถึง ๔ รายการด้วยกัน จนได้รับการยกย่องให้ได้รับเหรียญ VOA (Voice of America) โดยได้รับเชิญไปศึกษาดูงานทั้งในยุโรปและสหรัฐอเมริกา นามของเจ้าดวงเดือน ณ เชียงใหม่ จึงขจรขจายเป็นที่รู้จักของคนในหลายวงการในฐานะราชสกุลฝ่ายเหนือที่มีบทบาทต่อสังคมอย่างมากมาย โดยเฉพาะในแง่ของการต่อสู้เพื่อศักดิ์ศรีของคนเมืองเหนือด้วยกัน

ในช่วงของการเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ได้มีคนมาขอร้องให้คุณพิรุณเปิดโรงพิมพ์ในเชียงใหม่ แต่เนื่องจากคุณพิรุณมีภารกิจมาก ไม่มีเวลาดูแลกิจการอย่างเต็มที่ เจ้าดวงเดือนจึงต้องเข้าไปควบคุมดูแลด้วยตนเอง ตั้งแต่การบริหารจัดการกระบวนการพิมพ์ทั้งหมด ไปจนถึงดำเนินการสัมภาษณ์เอง เขียนข่าวเอง แม้กระทั่งการหาโฆษณาเอง จนกระทั่งกลายเป็นนักหนังสือพิมพ์ เป็นเจ้าของและบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ “เสียงเชียงใหม่” ที่ขายดีที่สุดในยุคนั้น เนื่องด้วยเป็นหนังสือพิมพ์คุณภาพและมีศักดิ์ศรี โดยการที่ท่านเป็นผู้ที่รักท้องถิ่นอย่างแรงกล้าที่ไม่มีความหยุดนิ่ง กล้าในการที่จะแสดงความคิดเห็นโดยสุจริตและเข้มแข็ง แม้ว่าบางกรณีบางเรื่องจะขัดกับความคิดเห็นของผู้มีอำนาจตำแหน่งสูง มีอิทธิพลเหนือกว่า เช่น การไม่เห็นด้วยกับการประกวดนางงามยามบ้านเมืองไม่ปกติ การปกป้องสตรีเหนือจากมารสังคม กรณีบ้านดอกคำใต้ การคัดค้านการสร้างกระเช้าไฟฟ้าขึ้นดอยสุเทพ การเสนอข่าวข้อเท็จจริงในหน้าหนังสือพิมพ์จะกระทำโดยไม่หวาดหวั่นต่ออำนาจบารมีใดๆทั้งสิ้น แม้ว่ามีบุคคลบางกลุ่มจะมองเห็นการต่อสู้เพื่อส่วนรวมนี้เป็นเรื่องยุ่งเกินความจำเป็นก็ไม่เกิดความท้อถอยแต่อย่างใด กลับอุทิศตนเองในการช่วยเหลือสังคมยิ่งขึ้น นับตั้งแต่การออกไปแสดงปาฐกถา อบรม อภิปราย ตามโรงเรียน วัด สถานที่ประชุมต่างๆ ให้แก่นักเรียน นักศึกษา เยาวชน กลุ่มหนุ่มสาว และราษฎรทั่วไปในเชียงใหม่และจังหวัดต่างๆในภาคเหนือตลอดมา

ในด้านความรักวัฒนธรรมประเพณีท้องถิ่น เจ้าดวงเดือน ณ เชียงใหม่ ได้อนุรักษ์และส่งเสริมการแต่งกายของสตรีในภาคเหนือด้วยผ้าไทย ท่านเป็นผู้นำเอาประเพณีการเลี้ยงขันโตกแบบล้านนาไทยกลับมาเผยแพร่และนำไปแสดงทางโทรทัศน์ช่อง ๘ จนได้รับความนิยม บัดนี้การเลี้ยงขันโตกได้กลายเป็นธรรมเนียมรับแขกเมืองของเมืองเหนืออย่างแพร่หลายในสมัยนี้ การจัดการแสดงประเพณี “อู้สาว” เมืองเหนือ ที่เป็นการแสดงให้เห็นวัฒนธรรมอันสูงส่งหลายด้าน ตลอดจนการแต่งกายที่ถูกต้องของคนเหนือแต่โบราณ การพยายามเผยแพร่ประเพณีที่ดีงามของเมืองเหนือให้เป็นที่แพร่หลายแก่สายตาชาวโลกจนมีผู้สนใจขอข้อมูลมากมาย อาทิ สถานทูตออสเตรเลียได้จัดส่งคณะทำภาพยนตร์เพื่อทัศนศึกษามาถ่ายทำประเพณียี่เป็ง (ลอยกระทง) อันเลื่องลือและชีวิตของพระไทยไปเผยแพร่ โดยได้รับการอำนวยความสะดวกต้อนรับ ให้คำแนะนำ และประพันธ์บทโดย เจ้าดวงเดือน ณ เชียงใหม่

จากอาชีพและงานที่ได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่องในสังคมทำให้ได้รับคำยกย่องอย่างมาก อาทิเช่น “กุลสตรีเป็นศรีลานนาไทย” “เพชรน้ำหนึ่งของลานนาไทย” “สามปอยหลวงเมืองเหนือ” ฯลฯ

ในปี พ.ศ. ๒๕๑๓ ได้มีการจัดตั้งศาลคดีเด็กและเยาวชนขึ้นในจังหวัดเชียงใหม่ และมีการสอบผู้พิพากษาสมทบขึ้น โดยมีผู้เข้าสอบจำนวน ๓๓ คน ปรากฏว่า เจ้าดวงเดือน ณ เชียงใหม่ สอบได้เป็นอันดับหนึ่ง เป็นสตรีคนแรกของภาคเหนือที่นั่งบัลลังก์ในฐานะตุลาการในศาลคดีเด็กและเยาวชนจังหวัดเชียงใหม่ นับเป็นเกียรติประวัติอย่างยิ่งของภาคเหนือ ท่านได้ปฏิบัติหน้าที่เป็นอย่างดีจนได้รับโล่รางวัล “ผู้พิพากษาผู้รักษาความเที่ยงธรรม” ในปี พ.ศ. ๒๕๑๗

จากนั้นในปี พ.ศ. ๒๕๑๗ ท่านก็ต้องเลิกทำหนังสือพิมพ์ หลังจากที่ได้ทำงานมาถึง ๑๗ ปี เนื่องจากในวันที่ ๑๐ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๑๖ มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ท่านเป็นสมัชชาแห่งชาติ จำนวน ๒,๓๔๗ คน และสมาชิกสมัชชาแห่งชาติเลือกตั้งกันเองเหลือ ๒๙๙ คน เป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เมื่อวันที่ ๑๙ ธันวาคม ๒๕๑๖ โดยได้รับโปรดเกล้าแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เมื่อวันที่ ๒๓ ธันวาคม ๒๕๑๖ ถึงวันที่ ๒๕ มกราคม พ.ศ. ๒๕๑๘

เจ้าดวงเดือน ณ เชียงใหม่ เป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ตัวแทนสตรี ๑ ใน ๑๕ คนของประเทศที่ได้รับการแต่งตั้ง และเป็นตัวแทนสตรีส่วนภูมิภาคนอกนครหลวงเพียงคนเดียวของประเทศ ท่านยังมีภารกิจในการอุทิศตนเพื่อชาติบ้านเมืองด้านอื่นๆอีกหลายอย่าง ได้เรียกร้องให้สังคมหันมาสนใจร่วมแก้ไขปัญหาที่ถูกซ่อนไว้อย่างจริงจัง อาทิ ปัญหาสตรีถูกตกเขียว กรณีหมู่บ้านดอกคำใต้ รณรงค์ให้สตรีสามารถลุกขึ้นมาสร้างกลุ่มและพัฒนาตนเองไปสู่ความเข้มแข็ง ช่วยรณรงค์วางแผนครอบครัวจนได้รับการแต่งตั้งให้เป็นหัวหน้าสำนักงานเขต สมาคมวางแผนครอบครัวแห่งประเทศไทยภาคเหนือ

เจ้าดวงเดือน ณ เชียงใหม่ เป็นผู้ที่คลุกคลีอยู่เพื่อสังคมและโลกกว้างมาอย่างยาวนาน ได้รับเชิญไปศึกษาและดูงานด้านต่างๆมาหลายประเทศ เช่น ครั้งดำรงตำแหน่งเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ได้รับเชิญไปสหรัฐอเมริกา ดูงานทั้งสภา การจัดสวนขนาดใหญ่ วิถีชีวิตของเกษตรกรกับบุคคลระดับต่างๆ และชมความก้าวหน้าของประเทศแถบยุโรป เช่น อังกฤษ ฝรั่งเศส เดนมาร์ก เนเธอร์แลนด์ ฯลฯ ไปประชุมเยาวชนกับการวางแผนครอบครัวที่ประเทศสิงคโปร์ ไปอบรมด้านการปฏิรูปที่ดิน และดูงานเกี่ยวกับพุทธศาสนาที่ประเทศสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) และไปศึกษาดูงานเพิ่มเติมที่ประเทศสาธารณรัฐเกาหลี (เกาหลีใต้) ร่วมกับคณะ ดร.ไชยยงค์ ชูชาติ ซึ่งเริ่มต้นงานปฏิรูปที่ดิน ไปเยือนสาธารณรัฐประชาชนจีนเป็นคณะแรก หลังจาก ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ไปเจริญสัมพันธไมตรีกับสาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งเป็นการเปิดสัมพันธ์ทางการทูตกับประเทศไทยนับแต่นั้น และไปเยือนประเทศเมียนมาร์ เชื่อมสัมพันธไมตรีทางด้านวัฒนธรรมร่วมกับคณะสำนักงานวัฒนธรรมแห่งชาติ (สวช.) จากประเทศไทยในฐานะประธานสภาวัฒนธรรมจังหวัดเชียงใหม่ด้วย

ม่อนดวงเดือน

หลังจากชีวิตเข้าสู่ช่วงวัย ๕๐ ปีเศษของเจ้าดวงเดือน ณ เชียงใหม่ ก็ได้เริ่มค่อยๆวางมือจากวงการทั้งหลายทั้งปวง หันมาใช้ชีวิตอย่างมีความสุขและสงบท่ามกลางธรรมชาติงดงามที่ “ม่อนดวงเดือน” ซึ่งตั้งอยู่ที่ถนนสายเชียงใหม่-ฮอด กิโลเมตรที่ ๖๔ ห่างจากตัวอำเภอจอมทองไม่ไกลนัก โดยตั้งใจว่าจะใช้ชีวิตในบั้นปลายอย่างสงบสุขที่ “ม่อนดวงเดือน” แห่งนี้ แต่เมื่อท่านเห็นชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในพื้นที่รอบๆม่อนดวงเดือน ยังมีภาวะว่างงานในกลุ่มสตรีหลังฤดูเก็บเกี่ยว มีฐานะความเป็นอยู่ลำบากยากจน และชาวบ้านแถบนั้นพอมีฝีมือในการทอผ้าอยู่ จึงได้เกิดแนวคิดที่จะส่งเสริมศิลปหัตถกรรมด้านนี้อย่างจริงจัง ท่านเป็นผู้ส่งเสริมกิจการการทอผ้าในกลุ่มสตรีภาคเหนือ ได้ติดต่อช่างทอผ้าฝีมือดีมาสอนการทอผ้าแก่ชาวบ้านในเขตอำเภอจอมทอง และสร้างมาตรฐานการทอผ้า รณรงค์ที่จะอนุรักษ์การทอผ้าฝ้ายลายโบราณ และสืบสานเคล็ดวิธีการย้อมสีด้วยวิธีธรรมชาติ ศึกษาจริงจังจนยกมาตรฐานการทอผ้า โดยริเริ่มกิจการฝ้ายดวงเดือน ที่ม่อนดวงเดือน อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมในครัวเรือน ได้ตั้งโรงทอผ้าขึ้นที่ใต้ถุนบ้าน จากกี่ทอผ้าเพียง ๒ กี่ ได้ขยายใหญ่โตขึ้น เป็นศูนย์อบรมหัตกรรมพื้นเมืองจอมทอง เกิดเป็นกิจการ “ฝ้ายดวงเดือน” เป็นโรงทอผ้าพื้นเมืองที่ใช้ฝ้าย ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ ใช้สีย้อมธรรมชาติจากต้นไม้ชนิดต่างๆที่มีอยู่อย่างอุดมสมบูรณ์ภายในม่อนดวงเดือน เช่น มะเกลือที่ให้สีเทา น้ำตาล หรือดำ อันแล้วแต่จำนวนครั้งและเทคนิควิธีการย้อม ไม้ฝางที่ให้สีกลีบบัวหรือชมพูเข้ม เพกาให้สีเขียว มะตูมให้สีเหลือนวล เปลือกประดู่ให้สีกะปิ เป็นต้น

ความงดงามและเอกลักษณ์ของผ้าฝ้ายดวงเดือนที่คนไทยและชาวต่างประเทศรู้จัก ด้วยเอกลักษณ์พิเศษคือ ผ้าฝ้ายที่หนานุ่ม ย้อมด้วยสีธรรมชาติ ไม่ยืด ไม่หด จนได้รับการยกย่องจากสภาอุตสาหกรรมจังหวัดเชียงใหม่ ว่าเป็นกิจการด้านการพัฒนาชุมชนและสังคม ที่อนุรักษ์สิ่งแวดล้อม สืบสานภูมิปัญญาการทอผ้า สร้างงานสร้างรายได้ให้ชาวบ้านไปพร้อมกัน และที่นี่คงจะเป็นแห่งเดียวของประเทศไทยที่มีต้นไม้ดอกไม้สำหรับย้อมผ้าสีนานาชนิด ซึ่งต้นไม้เหล่านี้ไม่เพียงมีประโยชน์ด้านการย้อมสี แต่ยังช่วยให้ “ม่อนดวงเดือน” มีกลิ่นหอมอบอวลยามที่ออกดอกสะพรั่งทั้งบริเวณ ในราวเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ที่มีความงดงามมากที่สุด นับได้ว่ากิจการฝ้ายดวงเดือนเป็นการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ทั้งยังสามารถสร้างรายได้และส่งเสริมอาชีพให้กับผู้คนแถบนั้นได้อย่างดี

บทบาทการทำงานเพื่อสังคมอย่างไม่หยุดนิ่ง

อย่างไรก็ตาม เมื่อยิ่งสูงวัยยิ่งขึ้น บทบาทของเจ้าดวงเดือน ณ เชียงใหม่ ก็หาได้ลดลงน้อยไปจากสังคมไม่ ถึงแม้ท่านอยากจะพักผ่อนแล้วก็ตาม แต่เนื่องจากท่านเป็นเจ้านายฝ่ายเหนือผู้อาวุโสและสูงศักดิ์ จึงเป็นหลักและเป็นที่พึ่งพิงของบ้านเมือง ของชาวเหนือกลุ่มต่างๆ จึงไม่อาจละเลยภารกิจส่วนรวมได้ ท่านจึงต้องออกมามีบทบาทหลายด้านในปัจจุบัน โดยเฉพาะการต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนและปกป้องพระพุทธศาสนาในฐานะที่ท่านเป็นพุทธมามกะที่เคร่งครัดมากคนหนึ่ง เช่น บทบาทพิทักษ์ความเป็นธรรมให้แก่ผู้ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน ต่อกรณีที่พระและฆราวาสไทยได้ถูกสังหารโหด ๑๙ ชีวิต ณ วัดพรหมคุณาราม รัฐอริโซนา สหรัฐอเมริกา มีการจับกุมตัวนายโจนาธาน ดูดี (Johnathan Doody) หรือ นายวีรพล คำแก้ว เด็กไทยวัย ๑๖ ปี เป็นแพะรับบาป ถูกกล่าวหาว่าเป็นฆาตกรทั้งๆที่มีเงื่อนงำในคดีนี้มากมาย เจ้าดวงเดือน ณ เชียงใหม่ ได้มีบทบาทอย่างสูงในฐานะประธานคณะกรรมการรณรงค์เพื่อเรียกร้องความยุติธรรม ร่วมต่อสู้เรียกร้องขอให้มีการรื้อฟื้นคดีขึ้นมาพิจารณาสอบสวนใหม่ โดยไม่หวั่นเกรงต่ออิทธิพลใดๆ จนถึงที่สุดที่คดีนี้ได้รับการยกฟ้อง คืนความยุติธรรมให้กับนายวีรพลซึ่งเป็นผู้บริสุทธิ์ สะท้อนให้เห็นถึงความตั้งใจเด็ดเดี่ยว ไม่ท้อถอยเลยแม้แต่ก้าวเดียวของเจ้าดวงเดือน ในการต่อสู้เพื่อความยุติธรรม

การสร้างภาพลักษณ์ที่ดีแก่สังคมท้องถิ่น การฝ่าฟันต่อสู้เพื่อประโยชน์อันชอบธรรมของสตรี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่ภาคเหนือกำลังก้าวเข้าสู่เมืองอุตสาหกรรมมากขึ้น แต่ปัญหาหลายอย่างได้ถูกละเลยไป ซึ่งในเรื่องนี้เจ้าดวงเดือน ณ เชียงใหม่ ได้สะท้อนไว้อย่างหลากหลายว่า บทบาทของสตรีในภาคเหนือ โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ที่กำลังมีไฟ ไม่ควรจะยึดติดอยู่เพียงงานสังคมสงเคราะห์ธรรมดาทั่วไป เช่น การแจกของ แจกผ้าห่มเท่านั้น แต่ควรมองไปถึงรากของปัญหาของสตรีที่ซ่อนอยู่ว่าปัญหาที่แท้จริงคืออะไร ทั้งในแง่ชีวิตความเป็นอยู่ สวัสดิภาพทางสังคม สิทธิสตรีทางภาคเหนือยังถูกย่ำยี และมีหลายปัญหายังคงค้างคา ดังนั้นสตรีในภาคเหนือจึงควรรวมกลุ่มของตน ตั้งขึ้นมาเพื่อร่วมกันคิดและหาหนทางแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างสร้างสรรค์

จากช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา นามของเจ้าดวงเดือน ณ เชียงใหม่ ยังเป็นชื่อที่ฝังแน่นในความทรงจำของคนทุกระดับ ด้วยลีลาที่งดงามเมื่อได้พบปะ แต่มุ่งมั่นเอาจริงเอาจังทุกครั้งที่มุ่งมั่นแก้ปัญหาสังคม โดยเฉพาะบทบาทของสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และการได้มีส่วนในการส่งเสริมสถานภาพและบทบาทของสตรีในภาคเหนือขึ้นมาทัดเทียมบุรุษ ในวันที่ ๑๕ มกราคม ๒๕๓๗ หลังการสัมมนาในหัวข้อ “ความสำเร็จของการเป็นนักธุรกิจสตรี” ซึ่งจัดตั้งขึ้นโดยความร่วมมือของบรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย CIDA ได้มีการจัดตั้งชมรมผู้ประกอบการสตรีภาคเหนือขึ้น ภายใต้การนำของเจ้าดวงเดือน ณ เชียงใหม่ ที่ได้รับเลือกให้เป็นประธานชมรมผู้ประกอบการสตรีภาคเหนือ เพื่อรวมกลุ่มนักธุรกิจสตรีภาคเหนือให้มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและสร้างสรรค์งานที่เป็นประโยชน์ต่อธุรกิจและสังคมโดยรวม 

นอกจากนี้ บทบาทในด้านการอนุรักษ์วัฒนธรรมท้องถิ่นของท่านที่มีอยู่อย่างต่อเนื่อง ในโอกาสของการเฉลิมฉลอง ๗๐๐ ปีเมืองเชียงใหม่ เจ้าดวงเดือน ณ เชียงใหม่ ได้รับการเลือกตั้งจากสมาชิกองค์กรเบญจภาคีทางวัฒนธรรมในจังหวัดเชียงใหม่ ให้เป็น ประธานสภาวัฒนธรรมจังหวัดเชียงใหม่คนแรก เมื่อวันที่ ๒๘ กันยายน ๒๕๓๗ เพื่อเป็นศูนย์กลางในการดำเนินงานวัฒนธรรมของจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งสภาวัฒนธรรมจังหวัดเชียงใหม่เป็นสภาวัฒนธรรมแห่งแรกในประเทศไทย และเป็นต้นแบบของการก่อตั้งสภาวัฒนธรรมจังหวัด อำเภอ และตำบลต่างๆในประเทศไทย เป็นการจุดประกายจิตสำนึกในการอนุรักษ์วัฒนธรรมของเจ้าดวงเดือน ณ เชียงใหม่ ให้ลุกโชติช่วงสว่างไสวในอันที่จะนำสภาวัฒนธรรมของจังหวัดเชียงใหม่ดำเนินการให้บรรลุวัตถุประสงค์

เมื่อสถานการณ์โรคเอดส์และการติดเชื้อเอชไอวีในประเทศไทย เริ่มเป็นที่รู้จักและมีการแพร่ระบาดรุนแรงมากขึ้นจนต้องมีการจัดตั้ง กองโรคเอดส์ กระทรวงสาธารณสุข ขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๓๓ การระบาดของการติดเชื้อเอชไอวี และโรคเอดส์ ในประเทศไทย ขยายสู่ประชากรทั่วไปอย่างรวดเร็ว สาเหตุหลักเกิดจากการมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ป้องกัน โดยเฉพาะในกลุ่มหญิงและชายวัยเจริญพันธุ์ ในปี พ.ศ. ๒๕๔๐ เจ้าดวงเดือน ณ เชียงใหม่ ในฐานะประธานสภาวัฒนธรรมจังหวัดเชียงใหม่ ได้ร่วมกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ จัดพิธีสมรสหมู่ “คู่แก้ววัฒนธรรมเมือง” ต่อเนื่องกันทุกปีเป็นเวลา ๙ ปี ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๔๐ – ๒๕๔๘ และจัดงานพิธี “คู่ขวัญเวียงพิงค์” ขึ้นในวันที่ ๑๑-๑๒ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๕๓ โดยใช้มิติทางวัฒนธรรมรณรงค์ให้คู่สมรส ผู้คน ครอบครัว ชุมชน และสังคม มีความรู้ความเข้าใจ มีศักยภาพในการป้องกันตนเอง และลด หรือ หยุดการระบาดของโรคเอดส์ในสังคมให้ได้ จนสถานการณ์การระบาดของเชื้อเอชไอวีในประเทศไทยได้คลี่คลายลงในเวลาต่อมา

การทำงานเพื่อสังคมและชาติบ้านเมืองของเจ้าดวงเดือน ณ เชียงใหม่ ได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง ท่านได้รับการแต่งตั้งและยกย่องจากหน่วยงานและสังคมหลายสถานะ พอสรุปได้ ดังนี้

๑. เป็นผู้ริเริ่มโครงการอนุรักษ์วัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม โดยมีพระสงฆ์และฆราวาสเข้าร่วมมากมาย เป็นผลมาจากความรักบ้านรักเมือง จึงได้รณรงค์ในการอนุรักษ์วัฒนธรรมประเพณีท้องถิ่น โดยอบรมกลุ่มหมู่บ้านต่างๆ การบรรยายและอภิปรายเพื่อสร้างจิตสำนึกในการอนุรักษ์วัฒนธรรมในท้องถิ่นให้คงอยู่ต่อไป

๒. ผู้ริเริ่มจัดงานไม้ดอกไม้ประดับ หรือ งานบุปผาชาติ ร่วมกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และเกษตรจังหวัดเชียงใหม่ยุคนั้น โดยเริ่มจากแนวคิดที่ว่า การเกษตรซึ่งเป็นอาชีพหลักของคนเชียงใหม่เริ่มได้ผลผลิตน้อยลง สาเหตุเพราะสภาพแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติถูกทำลายไปมากจนต้องหาอาชีพอื่นที่มาช่วยส่งเสริมรายได้ของประชาชน จึงคิดทำการพัฒนาให้เชียงใหม่เป็นศูนย์กลางของการท่องเที่ยว ประกอบกับที่คนไทยนำเงินตราออกไปต่างประเทศ สามารถไปดูดอกซากุระบานที่ญี่ปุ่น ไปดูดอกทิวลิปที่เนเธอร์แลนด์ ถ้าจัดงานไม้ดอกไม้ประดับขึ้นก็จะช่วยสร้างความสุขให้กับครอบครัวให้เกิดสัมพันธภาพที่ดีต่อกันจากการได้พากันมาเที่ยวชมงาน และได้กำหนดการจัดงานในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งเป็นช่วงที่ดอกไม้นานาชนิดกำลังออกดอกเบ่งบานเป็นอย่างมาก เป็นการสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรอีกทางหนึ่งด้วย ซึ่งงานนี้ได้ยืนยาวมาจนถึงปัจจุบัน

๓. สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เป็นสตรี ๑ ใน ๑๕ คนของประเทศที่ได้รับการแต่งตั้ง และเป็นตัวแทนสตรีส่วนภูมิภาคนอกนครหลวงเพียงคนเดียวของประเทศ นับเป็นเจ้านายสตรีฝ่ายเหนือเพียงคนเดียวในยุคนั้น 

๔. ผู้พิพากษาสมทบศาลคดีเด็กและเยาวชนจังหวัดเชียงใหม่ เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๓ โดยเป็นสตรีคนแรกที่นั่งบัลลังก์ในฐานะตุลาการในศาลคดีเด็กและเยาวชนจังหวัดเชียงใหม่ ที่สอบได้เป็นอันดับหนึ่ง จากผู้เข้าสอบทั้งหมดจำนวน ๓๓ คน

๕. กรรมการกลางของชาติในโครงการแผ่นดินธรรมแผ่นดินทอง

๖. ผู้อำนวยการสำนักงานสมาคมวางแผนครอบครัวแห่งประเทศไทยภาคเหนือ

๗. ประธานประสานงานส่วนภูมิภาคของสภาสังคมสงเคราะห์ ภาค ๕

๘. นายกสมาคมศิษย์เก่าโรงเรียนวัฒโนทัยพายัพ 

๙. ประธานชมรมไม้ดอกไม้ประดับคนแรกของเชียงใหม่

๑๐. อุปนายกพุทธสมาคมเชียงใหม่

๑๑. อุปนายกสมาคมหนังสือพิมพ์ส่วนภูมิภาค

๑๒. อุปนายกสมาคมหนังสือพิมพ์ภาคเหนือ

๑๓. นักหนังสือพิมพ์ อดีตเจ้าของ และบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ “เสียงเชียงใหม่”

๑๔. นักจัดรายการวิทยุที่ได้รับเหรียญ VOA (VOICE OF AMERICA) ได้รับเชิญไปศึกษาดูงานทั้งในยุโรปและสหรัฐอเมริกา

๑๕. กรรมการเหล่ากาชาดจังหวัดเชียงใหม่

๑๖. เลขานุการสมาคมสตรีศรีลานนาไทย

๑๗. ประธานสภาวัฒนธรรมจังหวัดเชียงใหม่คนแรก และเป็นสภาวัฒนธรรมแห่งแรกของประเทศไทย

๑๘. ประธานชมรมผู้ประกอบการสตรีภาคเหนือ

๑๙. ประธานกรรมการที่ปรึกษามูลนิธิเจ้าดวงเดือน ณ เชียงใหม่

๒๐. ประธานกรรมการที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ชมรมสืบสานศิลปวัฒนธรรมเขลางค์ จังหวัดลำปาง

๒๑. ประธานที่ปรึกษากิตติมศักดิ์เครือข่ายสังคมสร้างสรรค์

๒๒. ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์มูลนิธิกองทุนเพื่ออนุรักษ์ดอยอินทนนท์

ประกาศสดุดีเกียรติคุณ

๑. พุทธศักราช ๒๕๕๘ คณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ โดยมี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ได้ประกาศสดุดีเกียรติคุณ เจ้าดวงเดือน ณ เชียงใหม่ ให้เป็นผู้สูงอายุแห่งชาติ ประจำปีพุทธศักราช ๒๕๕๘ และได้รับเชิดชูเกียรติให้เป็น คนดีศรีแผ่นดิน เพื่อเป็นเกียรติประวัติแห่งคุณความดีในฐานะที่เป็นพลเมืองที่ดีและเป็นผู้สูงอายุที่ทรงคุณค่าเป็นแบบอย่างที่ดีในการทำงานเพื่อสังคมส่วนรวมอย่างต่อเนื่อง เจ้าดวงเดือน ณ เชียงใหม่ ได้รับการบันทึกชื่อให้เป็นบุคคลสำคัญในสารานุกรมประวัติศาสตร์ไทยล้านนา เพื่อเป็นเกียรติประวัติและอนุสรณ์แห่งคุณความดี

๒. พุทธศักราช ๒๕๖๔ คณะกรรมการเอกลักษณ์ของชาติ ได้ประกาศเกียรติคุณยกย่อง เจ้าดวงเดือน ณ เชียงใหม่ เป็นบุคคล “ค่าแห่งแผ่นดิน” ในด้านการส่งเสริมศาสนาและวัฒนธรรม ประจำปีพุทธศักราช ๒๕๖๔ โดยมีนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานกรรมการเอกลักษณ์ของชาติ ในประกาศคณะกรรมการเอกลักษณ์ของชาติ เรื่อง ผลการคัดเลือกบุคคลหน่วยงานและโครงการ เพื่อประกาศเกียรติคุณ “ค่าแห่งแผ่นดิน”

เครื่องราชอิสริยาภรณ์

พ.ศ. ๒๕๒๒ – Order of the White Elephant - 3rd Class (Thailand) ribbon.svgเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือก ชั้นที่ ๓ ตริตาภรณ์ช้างเผือก (ต.ช.) 

พ.ศ. ๒๕๑๗ – Order of the Crown of Thailand - 3rd Class (Thailand) ribbon.svgเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ชั้นที่ ๓ ตริตาภรณ์มงกุฎไทย (ต.ม.) 

พ.ศ. ไม่ปรากฎ – Order of the Direkgunabhorn (Thailand) ribbon.svgเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่สรรเสริญยิ่งดิเรกคุณาภรณ์ ชั้นที่ ๗ เหรียญเงินดิเรกคุณาภรณ์ (ร.ง.ภ.)

ตลอดระยะเวลา ๙๔ ปีที่ผ่านมา เจ้าดวงเดือน ณ เชียงใหม่ ได้อุทิศตนเพื่อพัฒนาสังคมให้ก้าวหน้า และมีความเสมอภาค ด้วยความวิริยะ อุตสาหะต่อเนื่องตลอดมา ก่อให้เกิดประโยชน์แก่คนและสังคมในวงกว้าง เป็นที่ประจักษ์แก่สาธารณชน ดำรงตน ได้อย่างเหมาะสม ได้บำเพ็ญกิจการสาธารณกุศลมาอย่างต่อเนื่องและยาวนาน เป็นผู้บุกเบิกและวางรากฐานด้านสิทธิเด็กและสตรี ได้เสียสละแรงกาย แรงใจ สติปัญญา และกำลังทรัพย์ในการสนับสนุน ช่วยเหลือสังคมและชุมชนอย่างต่อเนื่องยาวนานเป็นอเนกอนันต์ นำชื่อเสียงมาสู่ตนเอง และครอบครัว ดำรงไว้ซึ่งเกียรติยศ เกียรติศักดิ์ของสตรีล้านนา เป็นผู้ประพฤติตน อยู่ในศีลธรรม อันเพียบพร้อมด้วยคุณธรรมและจริยธรรม ทั้งยังมีบทบาทสำคัญในการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมล้านนาให้เป็นที่ปรากฏมีผลงาน เป็นที่ยอมรับทั้งในประเทศและต่างประเทศ ได้รับการยกย่องให้เป็นผู้ที่มีความรักในท้องถิ่นวัฒนธรรมไทยล้านนาอย่างแรงกล้า มีความจงรักภักดีต่อสถาบันชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์เป็นที่ยิ่ง จากผลงานที่ปรากฏของ เจ้าดวงเดือน ณ เชียงใหม่ สุภาพสตรีสูงศักดิ์ ผู้สามารถรับคำขนานนามว่า “สุภาพสตรีระดับชาติ” ได้อย่างสมความภาคภูมิ เป็นต้นแบบคนดีศรีแผ่นดินและเป็นเพชรน้ำหนึ่งของชาวไทยล้านนา 

จากบทบาทการดำเนินงานของเจ้าดวงเดือน ณ เชียงใหม่ ซึ่งได้ทำคุณประโยชน์คุณูปการให้แก่ชาติบ้านเมืองอย่างมากมาย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยนอร์ทเชียงใหม่ และมหาวิทยาลัยแม่โจ้ ได้มีมติมอบปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์แด่ เจ้าดวงเดือน ณ เชียงใหม่ เพื่อเป็นการประกาศเกียรติคุณอย่างสูงสุด ซึ่งท่านได้กล่าวถ้อยคำสะท้อนความรู้สึกถึงชีวิตที่ผ่านมาว่า

– ในฐานะลูก ก็ได้ประพฤติตนอยู่ในโอวาท และปรนนิบัติท่านยามเจ็บไข้ได้ป่วยและยามชราภาพ 

   เป็นการตอบแทนพระคุณพ่อ-แม่ อย่างดีที่สุดแล้ว

– ในฐานะภรรยา ก็คิดว่าได้เป็นเมียแก้วเมียแสง ที่ทางเหนือเรียกกัน อันเป็นการทำตนให้เป็นแสงสว่างและ

  เป็นดวงประทีปให้กับชีวิตของเขาตลอดเวลา

– ในฐานะแม่ของลูก ก็คิดว่าเราได้ให้การอบรมเลี้ยงดู และทำให้เป็นแม่ที่ลูกมีความภาคภูมิใจแก่เขาอย่างที่สุด

– ในฐานะของคนตระกูล ณ เชียงใหม่ ก็คิดว่าได้เป็นผู้ที่สร้างชื่อเสียงและดำรงวงศ์ตระกูลไว้ด้วยดี

– ในฐานะที่เป็นพลเมืองของประเทศ ก็คิดว่าเป็นส่วนหนึ่งที่ได้ช่วยเหลือสังคมรอบข้าง และทำตนเป็นพลเมืองดีมาตลอด

*** ฉะนั้นจึงไม่มีความเสียใจที่ได้เกิดมาในชีวิตนี้ ***

ข้อมูลอ้างอิง

๑. ฝ้ายไหมไทยล้านนา พ.ศ.๒๕๓๕. ข้อเขียน ของศิวาพร วัฒนรัตน์, เจ้าดวงเดือน ณ เชียงใหม่ : ผู้ได้สมญาว่า “สตรีระดับชาติ” 

๒. มณฑา เขียวสอาด สำนักงานศึกษาธิการจังหวัดเชียงใหม่ ประวัติชีวิตและผลงานของเจ้าดวงเดือน ณ เชียงใหม่

๓. ล้านนาคดี, มหาวิทยาลัยแม่โจ้, เจ้าดวงเดือน ณ เชียงใหม่, โดย ปรัชญา ศรีสง่า , บุปผา คุณยศยิ่ง

๔. “เจ้าดวงเดือน ณ เชียงใหม่” กับความหลังครั้งเก่าก่อน”. MGR Online. ๕ มิถุนายน ๒๕๕๔ 

๕. ๘๐ วัสสา ดร.เจ้าดวงเดือน ณ เชียงใหม่, พฤษภาคม ๒๕๕๒, โรงพิมพ์แสงศิลป์ เชียงใหม่

๖. เดือนส่องหล้า สืบสานล้านนา ในโอกาสครบรอบ ๘๐ วัสสา เจ้าดวงเดือน ณ เชียงใหม่

๗. สถาปนาสาร มูลนิธิ เจ้าดวงเดือน ณ เชียงใหม่ ๒๙ มกราคม ๒๕๕๙

๘. ประวัติบุคคลสำคัญ 

๙. “ประกาศสดุดีเกียรติคุณ เจ้าดวงเดือน ณ เชียงใหม่ ผู้สูงอายุแห่งชาติ ประจำปี ๒๕๕๘”. มูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย. ๘ มกราคม ๒๕๖๐ 

๑๐. อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดเชียงใหม่ 

๑๑. นักการเมืองท้องถิ่นจังหวัดเชียงใหม่. กรุงเทพฯ : สถาบันพระปกเกล้า. ๒๕๕๑

๑๒. “เจ้าดวงเดือน ณ เชียงใหม่ กับมากภารกิจในวัย ๘๗ ปี”. ไทยนิวส์. ๒๕ มิถุนายน ๒๕๕๘ 

๑๓. พระบรมราชโองการ ประกาศ แต่งตั้งสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ฉบับพิเศษ หน้า ๑ เล่ม ๙๐ ตอนที่ ๑๗๑ ราชกิจจานุเบกษา ๒๔ ธันวาคม ๒๕๑๖

๑๔. พระราชทานบรรดาศักดิ์ เล่ม ๒๐ น่ว.๔๖๑๙ ราชกิจจานุเบกษา วันที่ ๓๐ มีนาคม ๒๔๖๖ 

๑๕. แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ฉบับพิเศษ หน้า ๕๐ เล่ม ๙๗ ตอนที่ ๖๓ ราชกิจจานุเบกษา ๑๘ เมษายน ๒๕๒๓ 

๑๖. แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ 

๑๗. นักการเมืองถิ่นจังหวัดเชียงใหม่, สถาบันพระปกเกล้า 

แหล่งข้อมูลอื่น

๑. ประวัติเจ้าดวงเดือน ณ เชียงใหม่ จากเว็บล้านนาคดี มหาวิทยาลัยแม่โจ้ 

๒. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. พัธ ธ รังษี บรมวงศ์ไพศาล (admin) เพจ เจ้าดวงเดือน ณ เชียงใหม่

๓. กลุ่มงานใน เจ้าดวงเดือน ณ เชียงใหม่ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. พัธ ธ รังษี บรมวงศ์ไพศาล

๔. สำนักข่าวอิศรา,ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล คลอดงานเขียนเล่มแรก ‘เรื่องเล่าจากวังวรดิศ’,สนพ.ดีเอ็มจี เปิดตัวหนังสือ ‘เรื่องเล่าจากวังวรดิศ’ งานเขียนเล่มแรก ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ถ่ายทอดคุณงามความดีราชสกุล คำสอนกรมพระยาดำรงราชานุภาพ 

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

0
Would love your thoughts, please comment.x
()
x