ครูปาง – สุมิตร์ ชุ่มใจ ครูสอนฟ้อนเล็บ กลุ่มวัฒนธรรมหอคำพญามังราย

เมื่อเราพูดถึงนาฏศิลป์อันเป็นเอกลักษณ์ของภาคเหนือ เรามักจะนึกถึง “ฟ้อนเล็บ” ซึ่งในงาน “อาลัย เดือนลับฟ้า สู่สรวง” ที่จะมีช่างฟ้อนมาเป็นส่วนสำคัญของพิธีจำนวนมากหลายนั้น มีที่มาที่ไปอย่างไร วันนี้ คุณภาคินี ณ เชียงใหม่ บุตรสาวคนโต จะได้มาพูดคุยกับ ครูปาง – สุมิตร์ ชุ่มใจ ครูสอนฟ้อนเล็บ กลุ่มวัฒนธรรมหอคำพญามังราย 

ครูปาง ได้รับการถ่ายทอดวิชาการฟ้อนเล็บ มาจากคนรุ่นปู่ย่าตายาย และยังได้มีโอกาสได้ส่งช่างฟ้อนเล็บที่เป็นลูกศิษย์เข้าชิงชนะเลิศในการแข่งขันประกวดฟ้อนเล็บที่เจ้าดวงเดือนเป็นผู้จัด

ครูปาง ยังได้กล่าวต่อไปอีกว่า ช่างฟ้อนเล็บนั้น มีความเป็นมาตั้งแต่สมัยของสมเด็จพระราชชายา เจ้าดารารัศมี ซึ่งโปรดให้ครูฟ้อนเล็บในคุ้มหลวงนั้น ได้มาเผยแพร่วิชาการฟ้อนเล็บที่เป็นแบบแผนให้กับชาวบ้าน และการฟ้อนเล็บนี้ นิยมกันในงานมงคลต่างๆ อาทิ งานปอยหลวง ทอดกฐิน ทอดผ้าป่า ไปจนถึง ฟ้อนต้อนรับแขกบ้านแขกเมือง รวมไปจนถึงฟ้อนรับเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและพระราชินี และพระราชอาคันตุกะ รวมไปถึงฟ้อนถวายอาลัยสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ เมื่อคราวเสด็จสวรรคต อีกด้วย

เจ้าดวงเดือน สำหรับครูปาง ถือว่าเป็นหนึ่งในปูชนียบุคคลที่ชาวเชียงใหม่รักและเคารพที่สุด ด้วยความที่เจ้าดวงเดือนได้มีบทบาทอย่างสำคัญในการสืบสานการฟ้อนเล็บของเมืองเชียงใหม่ให้คงอยู่ต่อไป และยังให้โอกาสเหล่าช่างฟ้อนของครูปางมีโอกาสได้ฟ้อนอยู่เสมอ ซึ่งช่างฟ้อนของครูปางนั้น มีมาจากหลายๆที่ ไม่ว่าจะเป็น สภาวัฒนธรรมหนองหอย สภาวัฒนธรรมหนองผึ้ง และอีกหลายๆชมรมวัฒนธรรมในจังหวัดเชียงใหม่ 

สำหรับในงาน “อาลัย เดือนลับฟ้า สู่สรวง” ครูปางและช่างฟ้อนเครือข่ายจิตอาสากว่า 200 ชีวิต จะฟ้อนส่งเจ้าดวงเดือนที่วัดพระสิงห์ และประตูสวนดอกในจุดที่ขบวนจะเดินผ่านอีกด้วย 

Recommended Articles