พิธีกรรมศพโบราณล้านนา

พิธีกรรมศพโบราณล้านนา

ห้างลอย

            เมื่อมีผู้ถึงแก่วายชนม์ลำดับแรกจะประกอบพิธีกรรมห้างลอย  เริ่มจากต้มน้ำร้อนทิ้งไว้ให้อุ่นนำมาอาบน้ำศพ  เปลี่ยนเสื้อผ้าใหม่สวมกลับด้านให้ศพ  คือสวมด้านในกลับเป็นด้านนอก  ด้านหน้าไว้ด้านหลัง  ด้วยมีความเชื่อว่าโลกวิญญาณของคนตายกลับด้านกับโลกของคนเป็น  นำศพมานอนบนเสื่อผิวไม้สานที่เรียกว่า  “สาดบ่าง”  ปูไว้ตรงขื่อเรือน  ใช้ฝ้ายต่องที่เรียกว่า  “ฝ้ายจอนสาด”  มาวางรองไว้  ๓  จุด  นำเงินหรือคำหมากใส่ปากศพ  นำกรวยดอกไม้ให้ศพถือไหว้พนมมือ  เพื่อให้ดวงวิญญาณผู้ตายนำไปไหว้พระธาตุเกศแก้วจุฬามณีบนสรวงสวรรค์ชั้นดาวดึงส์  ผูกมือที่พนมด้วยฝ้ายต่อง  และผูกข้อเท้า  ๒  ข้างให้ติดกันด้วยฝ้ายต่อง 

เอาศพเข้าหล้อง

            เอาศพเข้าหล้อง  คือ  การนำศพลงโลง  ในอดีตจะใช้ขี้เถ้าฟางข้าวรองพื้นโลงหนาประมาณ  ๑๐  เซนติเมตร  เพื่อดูดซับน้ำเหลืองจากศพและดูดกลิ่นศพ  นำตะแกรงไม้ไผ่มาวางบนขี้เถ้า  จากนั้นทำพิธีปัดโลง (ภาคกลางเรียกว่าเบิกโลง)  โดยใช้กิ่งไม้ปัดไปมาภายในโลงศพพร้อมกับกล่าวว่า  “ขวัญคนหนี  ขวัญผีอยู่”  ทำการปัดและกล่าวคำ  ๓  ครั้งจึงนำศพลงโลง  บางแห่งใช้ผ้าขาวคลุมพระเศียรพระพุทธรูปที่ผ่านพิธีพุทธาภิเษกนำมาคลุมหน้าศพ  เชื่อว่าจะทำให้ดวงวิญญาณไปสู่ภพภูมิที่ดี  มีความนิยมเก็บศพไว้บำเพ็ญกุศล  ๓  –  ๗  วัน  ดังนั้นหากจัดเก็บศพไว้หลายวันต้องทำ  “ดือหล้อง”  โดยเจาะฝาโลงให้เป็นรูขนาด  ๓  เซนติเมตร  ใช้ไม้ไผ่ทะลุปล้องสอดเข้าไปในรูฝาโลงปลายไม้ไผ่อีกด้านทะลุขึ้นไปบนหลังคาเรือนเพื่อระบายกลิ่นของศพ  และบางงานก็ใช้ฟักเขียวผ่าครึ่งวางไว้ใต้โลงศพเพื่อช่วยดูดกลิ่นศพ 

เครื่องตั้งบนโลงศพ

            เครื่องตั้งบนโลงศพในระหว่างบำเพ็ญกุศล  ประกอบด้วย  ตุงเหล็กตุงตอง  พานใส่มะพร้าวปลอกเปลือก  ขันดอกไม้  บาตร  และผ้าไตร  โดยตุงเหล็กตุงตองทำจากโลหะและวัสดุอื่น ๆ  เช่น  เหล็ก  ทองเหลือง  เงิน  และทองคำ  เป็นต้น  ทำเป็นตุงตัวขนาดเล็กแขวนไว้รอบ ๆ  กับโครงยึดรูปวงกลม  เชื่อว่าการถวายตุงมีอานิสงส์สูง  ดวงวิญญาณผู้ตายจะเกาะหางตุงขึ้นสู่สวรรค์  ตุงเหล็กตุงตองบางท้องที่ทำทั้งหมด  ๑๖  ตัว  ห้อยแบ่งออกเป็น  ๒  ข้าง ๆ ละ  ๘  อัน  มีความหมายถึงทางดีและทางชั่ว  ๑๖  ประการ  ทางดี  ๘  ประการ (อริยมรรค)  คือ  เห็นดี  ดำริดี  พูดดี  การงานดี  อาชีพดี  เพียรพยามดี  ระลึกดี  และตั้งใจดี  ส่วนทางชั่ว  ๘  ประการ (สัมมัตตมรรคและมัจฉัตตมรรค)  คือตรงข้ามกับทางดีทั้ง  ๘  แต่บางแห่งก็ทำจำนวน  ๑๑  ตัว  ประกอบด้วย  ตุงดิน  ตุงทราย  ตุงไม้  ตุงจืน (ตะกั่ว)  ตุงเหียก  (ชินหรือดีบุก)  ตุงเหล็ก  ตุงตอง  (ทองแดงหรือทองเหลือง)  ตุงข้าวเปลือก  ตุงข้าวสาร  ตุงเงิน  และตุงคำ  (ทองคำ)  ตามคัมภีร์อานิสงส์ทานตุง  วัสดุเหล่านี้แทนการบำเพ็ญเพียรบารมี  ๑๐  ทัศใน  ๑๐  ชาติสุดท้าย  นอกจากนี้ยังตั้งพานมะพร้าวปลอกเปลือกเตรียมไว้สำหรับใช้ล้างหน้าศพที่ป่าช้า  เชื่อว่าน้ำมะพร้าวสะอาดบริสุทธิ์  เมื่อนำมาชะล้างสิ่งใดก็จะสะอาดบริสุทธิ์  บาตรที่ตั้งไว้บนโลงศพในวันเผาศพจะนำข้าวปลาอาหารผลไม้ใส่ให้เต็มบาตร  เชื่อว่าดวงวิญญาณผู้ตายจะนำไปถวายพระธาตุเกศแก้วจุฬามณีบนสรวงสวรรค์ชั้นดาวดึงส์  รวมถึงขันข้าวตอกดอกไม้ตั้งไว้บนโลงศพ  เชื่อว่าดวงวิญญาณจะนำไปบูชาพระธาตุเกศแก้วจุฬามณี  ส่วนผ้าไตรในยุคโบราณชาวล้านนาไม่มีการทอดผ้าไตรและผ้ามหาบังสุกุล  ต่อมาจึงนำมาตั้งไว้แล้วยกประเคนถวายพระพุทธในวันถวายทานก่อนจะไปเผาศพ  ด้วยมีความเชื่อว่าช่วงระหว่างที่ศพยังไม่ได้ทำการเผาจะได้อยู่ร่มเงาของผ้าเหลือง  จะได้เกาะชายผ้าเหลืองขึ้นสู่สวรรค์  อีกประการหนึ่งในอดีตการถวายผ้าไตรกระทำได้ยาก  ด้วยไม่มีผ้าไตรขายตามตลาด  ต้องขอบูชามาจากวัดมาวางไว้แล้วยกประเคนพระพุทธทั้งบาตรและผ้าไตร  เพื่อให้เกิดอานิสงส์แก่ดวงวิญญาณของผู้วายชนม์

ไฟยาม

            ไฟยามจุดไว้ที่ปลายเท้าศพตลอดวันตลอดคืนไม่ให้ดับ  ทั้งในช่วงห้างลอยและนำศพบรรจุลงโลงศพแล้ว  ยุคโบราณใช้น้ำมันมะพร้าวหรือน้ำมันพืชอื่น ๆ  เช่น  น้ำมันงา  และน้ำมันละหุ่ง  เป็นต้น  ใส่ในผางประทีปที่ปั้นจากดินเหนียว  ต่อมาใช้ตะเกียงน้ำมันก๊าด  การจุดไฟยามมีทั้งด้านความเชื่อและการใช้ประโยชน์  คือ  เชื่อว่าเป็นเครื่องเตือนสติว่ามนุษย์ประกอบขึ้นด้วยธาตุทั้ง  ๔  เมื่อแตกดับชีวิตก็แตกดับไปด้วย  เฉกเช่นดังไฟที่อาศัยน้ำมัน  เมื่อน้ำมันหมดไฟก็ดับ  อีกทั้งเชื่อว่าเป็นแสงสว่างส่องนำทางให้ดวงวิญญาณของผู้วายชนม์ไปสู่โลกหน้า  ในด้านการใช้ประโยชน์เพื่อผู้อยู่เฝ้าศพจะได้มองเห็นสิ่งที่จะมารบกวนบริเวณตั้งศพ  และช่วยคลายความกลัวจากความมืดในช่วงยามวิกาล 

เซ่นศพ

            เมื่อศพยังตั้งไว้ในเรือน  บุตรหลานต้องจัดสำรับอาหารและน้ำเปล่ามาตั้งไว้บนโลงศพประจำทุกวันเรียกว่า  “ขันพาด”  (ออกเสียง  “ขันป๊าด”)  บางท้องถิ่นจัดเซ่นศพทั้ง  ๓  มื้อ  แต่บางแห่งก็จัดเซ่นศพเพียง  ๑  มื้อ  เมื่อยกอาหารมาตั้งให้เคาะโลงศพเรียกชื่อผู้ตายบอกให้ดวงวิญญาณ  ด้วยมีความเชื่อว่าดวงวิญญาณก็มีความหิวจะมารับประทานอาหารที่จัดไว้ให้    อีกทั้งเกิดจากจิตใจของบุตรหลานที่ห่วงผู้ตาย  ได้เคยร่วมรับประทานอาหารมาด้วยกันตลอดเมื่อครั้งยังมีชีวิต  เมื่อวายชนม์ขณะศพยังตั้งอยู่ในเรือน  ก็จัดหาอาหารให้ดวงวิญญาณเหมือนเมื่อครั้งมีชีวิตอยู่

อาหารจัดเลี้ยงงานศพ

            ระหว่างที่จัดงานศพ  เจ้าภาพจะมีข้อห้ามไม่ให้จัดเลี้ยงอาหารบางประการสำหรับแขกผู้มาร่วมงาน  ทั้งอาหารทำจากฟักทุกชนิด  โดยเฉพาะฟักเขียวที่ใช้ดูดกลิ่นศพ  อาหารประเภททำด้วยเนื้อดิบ  ที่สื่อให้รู้สึกถึงศพ  และอาหารที่ใช้หยวกกล้วยและมีเส้น  ด้วยเชื่อว่าจะมีการล้มตายติดต่อกันเหมือนเส้นใยของหยวกและเส้นที่ใช้ประกอบการทำอาหาร  ส่วนอาหารที่นิยมทำเลี้ยงแขกผู้มาร่วมงาน  เช่น  แกงอ่อม  แกงผักกาด  แคบหมู่  ไส้อั่ว  และน้ำพริกต่าง ๆ  เป็นต้น

เทศนาธรรมงานศพ

            การเทศนาธรรมในงานศพช่วงเวลากลางคืนเรียกว่า  “ธรรมทานหาผีตาย”  เทศนาธรรมเป็นทำนองแบบล้านนา  คัมภีร์ธรรมที่นิยมใช้เทศน์  คือ  คัมภีร์ธรรมมาลัยโปรดโลก  คัมภีร์ธรรมมหามูลนิพพาน  คัมภีร์ธรรมวิสุทธิยา  คัมภีร์ธรรมอานิสงส์ล้างคาบ  และคัมภีร์ธรรมอานิสงส์ส่งสการ  ยุคโบราณไม่นิยมเทศน์แบบปาฐกถาธรรม  ด้วยศรัทธาผู้ฟังมีความคิดว่าพระภิกษุผู้เทศน์กล่าวสอนเองไม่ได้มีในคัมภีร์ธรรมของพระพุทธเจ้า  ก่อนรับศีลและก่อนเทศนาธรรม  ก็จะเคาะโลงศพเรียกชื่อผู้ตายบอกกล่าวให้ดวงวิญญาณรับรู้ในการเทศนาธรรมทุกครั้ง  การเทศนาธรรมมีวัตถุประสงค์ทั้งสั่งสอนผู้มาร่วมงานศพให้ตั้งอยู่ในความดี  และอุทิศบุญกุศลเป็นอานิสงส์ให้กับดวงวิญญาณผู้ตาย

สวดพระอภิธรรม

            ภายหลังจากเทศนาธรรมเป็นทำนองแบบล้านนา  จะเป็นการสวดพระอภิธรรม  โดยพระภิกษุสามเณรจำนวน  ๔  รูป  บทที่ใช้สวดคือ  สิยา  เยเก๋  เหตุปัจจะโย  หรือสวดอภิธรรม  ๗  คัมภีร์  เชื่อว่าเมื่อสวดพระอภิธรรม  ดวงวิญญาณของผู้วายชนม์จะรู้ตัวว่าตนได้ตายแล้ว และจะได้เดินทางไปสู่โลกหน้า  เป็นการเตรียมความพร้อมด้านปัจจัยเครื่องอาศัยเพื่อการดำรงชีวิตอยู่ในโลกหน้าสำหรับผู้ตาย  ส่วนจารีตเดิมโบราณล้านนาจะมีการเทศนาธรรมเป็นทำนองแบบล้านนา  เสร็จแล้วจะสวดสิยา  เหตุปัจจะโย  ที่เป็นภาษาบาลีมีเนื้อหาอยู่ในพระไตรปิฎก (พระไตรปิฎกฉบับภาษาบาลี  เล่มที่  ๔๕)  มีพระสงฆ์จำนวน  ๔  รูปนั่งล้อมวงสวดเป็นทำนอง  ในจังหวัดเชียงใหม่มีความนิยมสวดพระอภิธรรม  ๗  คัมภีร์ด้วย  ๒  ทำนอง  คือ  ทำนองสวดสังโยค  และทำนองล้านนา  โดยทำนองล้านนาสามารถแบ่งย่อยออกเป็น  ๓  ทำนอง  คือ  ทำนองม้าย่ำไฟ  ทำนองมะนาวล่องของ  และทำนองธรรมวัตร  ส่วนทำนองสวดสรภัญญะมี  ๖  ทำนอง  คือ  ทำนองรำพันสังขาร  ทำนองอภิธรรมยามดึก  ทำนองสกุณารำพึง  (ทำนองแสนสงสาร)  ทำนองอภิธัมมัตถสังคหะ  ทำนองพระมาลัย  และทำนองสิยา      

ที่มาข้อมูล

ประเพณีทำศพ  เอกสารชุดประเพณีเมืองเชียงใหม่  ของสภาวัฒนธรรมจังหวัดเชียงใหม่  พ.ศ.๒๕๔๓

ปริศนาธรรมในพิธีกรรมล้านนา  ของสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดเชียงใหม่  พ.ศ.๒๕๔๘

ส่งสการ  :  พิธีกรรมล้านนา  ของศาสตราจารย์เกียรติคุณมณี  พยอมยงค์  พ.ศ.๒๕๕๒

ประเพณีชีวิตคนเมือง  ของพ่อครูศรีเลา  เกษพรหม  พ.ศ.๒๕๔๔

การวิเคราะห์เนื้อหาและทำนองสวดพระอภิธรรมที่ใช้สวดในจังหวัดเชียงใหม่  ของพระมหายุทธกิจ  นามชื่น  พ.ศ.๒๕๕๑ 

โลกหน้าล้านนา  :  พัฒนาการการสร้างปราสาทศพต่างสัตว์หิมพานต์และการก่อกู่  ของภูเดช  แสนสา  พ.ศ.๒๕๕๖

พระครูอดุลสีลกิตติ์  (ประพัฒน์  ฐานวุฑฺโฒ)  วัดธาตุคำ  อำเภอเมืองเชียงใหม่  จังหวัดเชียงใหม่

Recommended Articles