ชาวล้านนาทำอย่างไรเมื่อถึงวาระสุดท้ายของชีวิต โดย พ่อครูศรีเลา เกษพรหม


ชาวล้านนาทำอย่างไรเมื่อถึงวาระสุดท้ายของชีวิต โดย พ่อครูศรีเลา เกษพรหม

ทำอย่างไรเมื่อคนมาถึงวาระสุดท้ายของชีวิต และเมื่อหมดลมหายใจแล้วทำอย่างไรต่อ? 

ปกติแล้วคนเมืองจะดูแลซึ่งกันและกันจนใกล้ถึงวาระสุดท้ายของชีวิต ซึ่งเป็นวาระที่มีความทุกข์ยาก คนที่ใกล้ตายจะกินข้าวกินน้ำไม่ได้ หายใจรวยริน ญาติพี่น้องก็จะมานั่งล้อมเพื่อดูใจ คนที่ใกล้ถึงวาระสุดท้ายจะอยู่ในภวังค์ ไม่รู้สึกตัว หรือเรียกว่า “คอกหม่วน” คือ นอนหลับสบาย อาจนอนนอนหลับแต่หูก็จะยังได้ยินรอบข้าง และจิตพร้อมจะออกจากร่างกาย ลูกหลานหรือคนรอบข้างจะสังเกตุได้จากบริเวณเอ็นคอ จะมีอาการขยายออกอย่างเห็นได้ชัด  และมีลมหายใจที่อ่อนลง สามารถสังเกตได้ด้วยว่าจิตออกทางใหน หากจิตออกทางใหนอวัยวะนั้นจะเคลื่อนไหว เช่น บางคนจิตอออกทางตาก็จะขยิบตาแล้วหมดลมหายใจ หรืออาจเป็นทางจมูก หู ปาก ฯลฯ ซึ่งในแต่ละคนนั้นจิตออกในที่ๆแตกต่างกันออกไป 

เมื่อหมดลมหายใจลูกหลานจะร่ำร้อง ทั้งร้องไห้ และร้องกรี๊ดเสียงดัง โดยเฉพาะผู้หญิงบางคนจะกระทืบเท้า และร้องเสียงดังว่าจากนี้ลูกจะอยู่กับใคร อาการนี้เรียกว่า “ไห้หอนวอนตุ๊ก” การร้องไห้นี้จะทำให้เพื่อนบ้านรู้ว่ามีการเสียชีวิตเกิดขึ้น ชาวบ้านก็จะมาช่วยกันที่งานศพ จะมีคนเฒ่าคนแก่ในหมู่บ้านมาทำพิธี โดยเริ่มจากให้ลูกหลานต้มน้ำอุ่นเพื่ออาบน้ำ และแต่งตัวให้ศพ จากนั้นจะทำการ “ห้างลอย” โดยการนำเสื่อ เรียกว่า “สาดบ่าง” มาปูและใส่ “ฝ้ายจอนสาด” หรือสายสิญจน์ มาวาง 3 ที่ จากนั้นยกศพที่อาบน้ำแต่งตัวแล้วมานอนบนเสื่อ จัดท่าพนมมือ เมื่อก่อนนั้นจะใส่กรวยดอกไม้เพื่อให้คนตายนำไปไหว้พระธาตุเกศแก้วจุฬามณี 

เมื่อจัดศพแล้วก็รอหีบ ในสมัยก่อนนั้นจะต้องใช้เวลาทำโลงศพเองไม่เหมือนปัจจุบัน ระหว่างนั้นก็จะทำเชือกขึงจากหัวถึงเท้าศพ โดยผูกเชือกกับผนังหรือเสา แล้วใช้ผ้าคลุมคล้ายกับกระโจม เพื่อศพจะไม่เป็นภาพอุดจาดตาสำหรับคนที่มองเห็น และเมื่อหีบเสร็จแล้วก็จะนำศพเข้าโลงศพ จะมีการหักกิ่งไม้และกล่าว “คำฮ่ำ” แล้วปัดกิ่งไม้ในโลงศพ จากนั้นก็ยกศพลงในโลง ปิดฝา และตั้งศพไว้ทำพิธีบำเพ็ญกุศลต่อไป 3 หรือ 7 คืน สถานที่ตั้งศพนั้นจะนำหัวศพไปทางทิศเหนือ รวมถึงอุโมงค์ หรือที่เผาศพ ซึ่งเป็นทิศผีนอน ปัจจุบันคนที่ยึดถือก็จะไม่นอนหันหัวไปทางทิศเหนือ เพราะกลัวว่าจะฝันร้ายและเกิดสิ่งไม่ดีในชีวิต หลังจากพิธีบำเพ็ญกุศล ก็จะมี “พิธีส่งสการตานคาบ” หรือ การเผาศพต่อไป

สำหรับเกร็ดความรู้เกี่ยวกับ พิธีศพอย่างล้านนา ทางคณะผู้จัดงาน “อาลัย เดือนลับฟ้า สู่สรวง” จะนำเสนอตอนต่อไป ในเรื่อง “ปราสาทศพของเจ้ายายดวงเดือน” 

โปรดติดตามได้ในเวบไซต์ www.chaoduangduen.com 

#เจ้าดวงเดือน #chaoduanduen #อาลัยเดือนลับฟ้าสู่สรวง #ทำอย่างไรเมื่อถึงวาระสุดท้ายของชีวิต

Recommended Articles