ตั้งแต่เยาว์วัย เจ้าดวงเดือน ณ เชียงใหม่ ได้รับความเมตตาและอนุบาลเป็นอย่างดีจาก เจ้าบัวทิพย์ ณ เชียงใหม่ ผู้เป็นพระราชธิดาในเจ้าแก้วนวรัฐ เจ้าหลวงผู้ครองนครเชียงใหม่ องค์ที่ ๙ แห่งราชวงศ์ทิพย์จักร กับแม่เจ้าจามรีวงศ์ ณ เชียงใหม่ หรือ เจ้าจามรีวงศ์ โดยเจ้าบัวทิพย์ ณ เชียงใหม่ได้รับเจ้าดวงเดือน ณ เชียงใหม่ เป็นธิดาบุญธรรมและให้ความรักและอภิบาลเป็นอย่างดี ชีวิตของท่านจึงแวดล้อมไปด้วยขนบธรรมเนียมประเพณีแบบโบราณในคุ้มหลวงของเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ ท่านได้รับการฝึกอบรมอย่างเคร่งครัดจากคุ้มหลวง ทั้งทางด้านความเป็นกุลสตรี
ด้านการเรือน ความเป็นแม่บ้าน ได้ศึกษาการทำอาหารคาวหวาน ทำน้ำอบน้ำปรุง การทำยาสมุนไพร ทำสวน ปลูกต้นไม้ และเรียนการแสดงฟ้อนรำ ขับกล่อมเพลงแบบราชสำนักสยามล้านนา เพื่อเป็นตัวแทนต้อนรับอาคันตุกะ ตลอดจนแสดงให้งานสาธารณกุศลต่างๆ โดยยุคสมัยนั้นนาฏศิลป์ การละครภายในคุ้มหลวงเป็นที่เฟื่องฟูมาก ท่านจึงได้รับการถ่ายทอดศิลปวัฒนธรรม ประเพณีด้านต่างๆโดยตรง นอกจากนั้นท่านยังมีหน้าที่อ่านหนังสือให้เจ้าพ่อและคนในคุ้มหลวงฟังตั้งแต่เด็ก เช่น เรื่องกฎหมาย การแพทย์ สมุนไพร ความรู้รอบตัว ซึ่งเมื่อครั้งเป็นเด็กรู้สึกชีวิตถูกบังคับเข้มงวดไม่เป็นสุขเลย ผิดกับเด็กทั่วไปที่มีเวลาวิ่งเล่นเที่ยวกับหมู่เพื่อน แต่เมื่อเติบโตขึ้นกับตรงกันข้าม รู้สึกว่าตนเองช่างโชคดีเหลือเกินที่ได้รับการพร่ำสอนขัดเกลาจากเจ้าพ่อ เพราะทุกสิ่งล้วนมีประโยชน์ต่อการดำเนินชีวิตโดยตลอดอย่างคุ้มค่า ประกอบกับเจ้าพ่อเป็นผู้ทรงภูมิความรู้ เป็นลูกศิษย์ของสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ จึงได้รับการถ่ายทอดความรู้มาให้อย่างมากมาย หล่อหลอมให้เจ้าดวงเดือน ณ เชียงใหม่ เป็นผู้มีความรู้อย่างกว้างขวาง มีความสามารถพิเศษหลายด้าน อาทิ ขับร้องเพลงไทยเดิม จ๊อย ซอ โคลงกลอนแบบเมืองเหนือ ฟ้อนรำ และมีฝีมือด้านการประดับตกแต่ง จัดสวน จัดดอกไม้ เป็นต้น
ด้วยเหตุที่ เจ้าดวงเดือน ณ เชียงใหม่ เป็นธิดาที่มีใบหน้าคล้ายคลึงเจ้าพ่อมากที่สุด มีกิริยามารยาทงดงาม เป็นแบบอย่างของกุลสตรีไทยชาวเหนือทั่วไป จึงเป็นที่โปรดปรานยิ่งนักของเจ้าพ่อ ซึ่งเป็นคนโบราณที่อยู่ในยุคช่วงต่อระหว่างความเก่ากับความใหม่ จึงมีความห่วงใยลูกสาวเป็นพิเศษ
ใส่ความเห็น