หลังจากที่ “ห้างลอย” และลูกหลานได้เตรียมขันข้าวตอกดอกไม้ดอกไม้เพื่อขอขมาผู้ตายแล้ว ก็จะมีการตั้งศพเพื่อทำบุญกุศล เมื่อก่อนนั้นมักตั้งศพที่บ้านไม่นำไปตั้งที่วัด แต่ละวันก็จะนิมนต์พระมาเทศน์ และสวด อาจใช้เวลา 3 หรือ 7 คืน ธรรมที่พระนิยมนำมาเทศน์ หรือสวด คนโบราณเรียกว่า “ธรรมหม้อแกงตอง” หมายถึง ธรรมที่ทำให้พระได้กิน และได้กัณฑ์เทศน์ เช่น ธรรมมหามูลนิพพาน ธรรมมาลัยโผดโลก ธรรมวิสุทธิยา ฯลฯ
เมื่อเทศน์เสร็จก็จะมีการสวด ซึ่งเป็นแบบล้านนา เช่น สวดสียา สวดเยเก๋ สวดเหตุปัจจัยโย สวดอภิธรรม7ก๋ำปี ฯลฯ ในสมัยก่อนนั้นผู้คนส่วนใหญ่จะกลัวผีเพราะบรรยากาศวังเวง ในคืนที่ 3 เชื่อว่าผีหรือคนตายจะมาเยี่ยมบ้านเพื่อเก็บรอยนิ้วมือนิ้วเท้า ในวันที่ 3 และวันที่ 7 คนจะกลัวมากเป็นพิเศษจนไม่กล้าไปทำกิจกรรมต่างๆตอนกลางกลางคืนต้องมีคนไปส่ง เมื่อตั้งพิธีบำเพ็ญกุศลศพ 3 คืน หรือ 7คืน แล้ว คนเฒ่าคนแก่จะมาช่วยกันทำ “เฮือนศพ” รูปแบบก็จะขึ้นอยู่กับตำแหน่งและฐานะของผู้ตาย ซึ่งถ้าเป็นชนชั้นสูง “เฮือนศพ” ที่ว่านี้ ก็จะเป็นสิ่งที่เรียกว่า “ปราสาท” ซึ่งสิ่งเหล่านี้ นับว่าเป็นศิลปะที่งดงาม
สำหรับเกร็ดความรู้เกี่ยวกับ พิธีศพอย่างล้านนา ทางคณะผู้จัดงาน “อาลัย เดือนลับฟ้า สู่สรวง” จะนำเสนอตอนต่อไป ในเรื่อง “ทำอย่างไรเมื่อคนมาถึงวาระสุดท้ายของชีวิต และเมื่อตายแล้วทำอย่างไร”
โปรดติดตามได้ในเวบไซต์ www.chaoduangduen.com
#เจ้าดวงเดือน #chaoduanduen #อาลัยเดือนลับฟ้าสู่สรวง #การตั้งศพและพิธีบำเพ็ญกุศลอย่างล้านนา