สืบเนื่องจากคำถามของหลายๆท่านที่ได้มีเข้ามา เกี่ยวกับพิธี “ส่งสการตานคาบ” ทางคณะผู้จัดงาน “อาลัย เดือนลับฟ้า สู่สรวง” จึงใคร่ขออธิบาย ความหมายและที่มาที่ไป ของพิธีส่งสการตานคาบ กับทุกๆท่านดังนี้
ความหมาย คำว่าส่งสการ
เป็นคำที่เพี้ยนมาจากคำว่า “ส่งสักการะ” ในพจนานุกรมฉบับแม่ฟ้าหลวงเล่มที่ ๒ ได้ให้ความหมายของคำว่า ส่งสการ ไว้ดังนี้
ส่งฯ=ส่ง ทำให้สิ่งใดสิ่งหนึ่งเคลื่อนพ้นจากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่ง เพื่อให้ถึงผู้รับ หรือหมายด้วยอาการต่าง ๆ กัน เช่น การบวงสรวง, การมอบให้ หรือ มอบให้ตามพิธีกรรม
ส่งฯสการฯ=พิธีกรรมเกี่ยวกับการปลงศพ
การส่งสการนั้นเป็นคำที่มีมาแต่โบราณปรากฏในตำนานอยู่หลายแห่งได้กล่าวถึงคำว่า ส่งสการ ปัจจุบันบางแห่งก็ยังใช้อยู่บ้างถึงแม้ว่าจะมีคำอื่น ๆ มาแทน ทำไมต้องใช้คำว่าส่งสการหากดูตามพจนานุกรมได้อธิบายมาก็น่าจะเป็นไปตามนั้นคือ เป็นการแสดงออกถึงความกตัญญูต่อผู้ที่ตายไปโดยจัดเครื่องสักการให้สมฐานะแก่ผู้ตายนั้นๆ ไม่ว่าจะเป็น ปราสาทชนิดต่างๆ ก็ดี สัตว์หิมพานต์ก็ดี ดอกไม้จันทน์ก็ดี และเครื่องไทยทานต่างๆ ก็ดีล้วนอยู่ในคำว่า เครื่องสักการทั้งสิ้น เครื่องสักการะนี้จะมอบให้โดยตรงก็ได้หรือมอบผ่านทางตัวแทนก็ได้เช่น พระสงฆ์-สามเณร เป็นต้น และยังมีคำที่ควบคู่กับคำว่า ส่งสการก็คือ ตานคาบ
ตานคาบ หมายความเช่นไร?
ตานคาบหมายถึงการทำบุญแก่ผู้ตายในขณะที่มีศพตั้งอยู่ในบ้านหรือสถานที่ใด เมื่อเอาคำสองพยางค์มารวมกันก็จะเป็นคำว่า ส่งสการตานคาบ ปัจจุบันคำว่า ส่งสการ นั้นมิได้ค่อยได้ใช้กันนักแต่ก็มีคำอื่นมาแทนเช่นคำว่า ปลงศพ, เสียศพ, เผาศพ, ฌาปนกิจ ฯลฯ
การจัดศพ
ลักษณะการจัดศพให้แก่คนตายนั้น ด้วยความเชื่อที่มีของคนล้านนาที่มีมาแต่ดั่งเดิมในความเชื่อเรื่องผีไม่ว่าจะเป็นผีบรรพบุรุษเช่นผีปู่ย่า ผีบ้านผีเรือน ผีเสื้อบ้านเสื้อเมือง ผีเสื้อวัด แม้แต่ผีที่อยู่ตามไร่นาป่าเขาและต้นไม้ใหญ่ เป็นต้นซึ่งบรรดาผีเหล่านี้เป็นสิ่งที่คนล้านนาให้ความเชื่อและนับถือมาก่อนที่จะได้รับเอาพระพุทธศาสนา เมื่อหันมานับถือพระพุทธศาสนา คนล้านนาก็ได้ยกระดับความเชื่อเดิมให้สูงขึ้นซึ่งพุทธศาสนาเองก็มิได้ขัดขวางหรือรังเกียจ บางทีก็อาจให้การสนับสนุนเสียด้วยซ้ำโดยยกผีเหล่านั้นให้เป็นเทวดาในพระพุทธศาสนามีหน้าที่ปกป้องคุ้มครองพระพุทธศาสนา รักษาบ้านเมืองให้อยู่เย็นเป็นสุขโดยมีพระสงฆ์เป็นตัวกลางในการเชื่อมประสาน เพราะคนล้านนามีพื้นฐานความเชื่อมาจากผี ดังที่อภิธาน สมใจได้กล่าวไว้ในหนังสืองานศพล้านนาปราสาทนกหัสดีลิงค์สู่ไม้ศพว่า
“โลกทัศน์เบื้องหลัง พิธีกรรมเพื่อคนตายของชาวล้านนา จึงมีอยู่สองแนวคิดหรือสองกระแสด้วยกันคือ
1. โลกทัศน์ในวัฒนธรรมพื้นบ้านดั้งเดิมว่าด้วย ชีวิตมนุษย์ในโลกนี้กับชีวิตผีวิญญาณอื่นทีซ่อนอยู่ในโลกนี้ อันเป็นวัฒนธรรมชาวบ้านสามัญชน
2. โลกทัศน์ในวัฒนธรรมของชนชั้นผู้นำว่าด้วย จักรวาลวิทยาในพุทธรรมหรือไตรภูมิวิทยา อันเป็นวัฒนธรรมนำเข้าโดยพระสงฆ์และชนชั้นผู้ปกครองหรือที่เรียกว่า วัฒนธรรมหลวง”
การจัดพิธีกรรมให้กับผู้เสียชีวิตนั้นจะมีความเชื่ออยู่ 2 อย่างที่ผสมผสานกันอยู่นั่นคือ
- ความเชื่อในเรื่องภูตผีวิญาณ คาถาอาคมต่าง ๆ เพื่อป้องกันวิญญาณของคนตายมารังควาน
- ความเชื่อในพุทธศาสนาที่กล่าวถึงการสร้างคุณความดีเพื่อให้ได้ไปเกิดในภพภูมิที่ดีและการอุทิศสิ่งของไปหาผู้ตาย
ซึ่งความเชื่อทั้ง 2 กระแสได้ก่อให้เกิดการผสมผสานกันกลายเป็นวัฒนธรรมและจารีตที่ยึดถือปฏิบัติกันต่อๆ มา นอกจากนี้แล้วการสิ้นชีวิตของบุคคลผู้หนึ่งยังเป็นการแสดงออกถึงสถานะภาพและความสำคัญของของผู้วายชนม์
แม้ว่าในแผ่นดินล้านนา จะมีผู้คนอยู่กันมากมายหลายกลุ่มที่มีความเชื่อที่แตกต่างกันออกไป แต่ก็หาใช่เป็นอุปสรรคในการอยู่ร่วมกันเพราะคนล้านนานั้นมีสิ่งที่เชื่ออย่างดียวกันนั่นคือระบบความเชื่อเรื่องผีบรรพบุรุษ และหลักคำสอนของพระพุทธศาสนา ที่ผสมและซึมซาบเข้าไปทุกกิจกรรมอย่างของคนล้านนาตั้งแต่เกิดจนกระทั่งตาย ซึ่งระบบความเชื่อนี้ ยังได้กำหนดบทบาทหน้าที่ของคนเอาว่าคนกลุ่มใดมีหน้าเช่นใด และควรปฏิบัติอย่างไร
การจัดศพตามชนชั้น
และหากจะกล่าวถึงชนชั้นในล้านนาก็อาจจะแบ่งออกได้เป็น 3 กลุ่มคร่าว ๆ ดังนี้
1.กลุ่มชนชั้นปกครอง อันได้แก่พระมหากษัตริย์ พระราชวงศ์และบรรดาขุนนางเป็นต้น
2.กลุ่มชนชั้นผู้ถูกปกครอง อันได้แก่ ประชาชนโดยทั่วไป
3.กลุ่มพระสงฆ์ ผู้ที่ทำหน้าที่เผยแผ่หลักคำสอนทางพระพุทธศาสนา
สำหรับพิธีศพของพระมหากษัตริย์พระราชวงศ์สิ้นพระชนม์ลงหรือพระสงฆ์ที่มรณภาพไปก็จะมีการจัดศพให้ยิ่งใหญ่กว่าบุคคลธรรมดาสามัญทั้งนี้เพื่อเป็นการยืนยันว่าบุคคลนั้นเมื่อสิ้นชีวิตไปแล้วก็จะกลับไปสู่ภพภูมิที่มาหรือไปบังเกิดในภูมิที่สูงกว่า เพราะถือว่า พระมหากษัตริย์เป็นผู้มีบุญญาธิการ ยิ่งกว่าสามัญชนโดยทั่วไปเกิดมาเพื่อสร้างบารมี ด้วยเหตุนี้เองจึงเป็นจุดเริ่มต้นของการทำปราสาทขึ้นโดยอิงอาศัยคติของจักรวาลทางพระพุทธศาสนาโดยถือว่าพระมหากษัตริย์นั้นเป็นผู้ที่ถือกำเนิดมาจากสวรรค์ชั้นดุสิตเป็นเทวดาที่สถิตอยู่ ณ เหนือยอดเขาพระสุเมรุ ลงมาเกิดในโลกมนุษย์เพื่อสร้างสมบุญบารมีให้ยิ่งขึ้นไป เมื่อสิ้นพระชนม์ไปแล้วก็จะกลับไปอยู่ ณ สถานที่เดิม เพื่อเป็นการแสดงให้ถึงสัญลักษณ์เช่นว่านั้นจึงมีการสร้างปราสาท พร้อมทั้งจำลองจักรวาลตามคติพุทธศาสนาให้บรรดาชนเหล่าอื่นได้เห็นและรับรู้ถึงสถานะภาพนั้นและแสดงสิทธิอันชอบธรรมในการที่จะปกครองบ้านเมืองของเชื้อพระวงศ์องค์ต่อไปเพราะว่าเป็นส่วนหนึ่งของเทวดาผู้ยิ่งใหญ่ที่มาช่วยมนุษย์ทั้งมวลให้ได้รับความสุขพ้นจากความทุกข์
ส่วนพระสงฆ์นั้นถึงแม้ว่าจะมิใช่เชื้อพระวงศ์ก็ตามแต่ก็เป็นผู้ที่ประพฤติดีปฏิบัติชอบสืบทอดพระศาสนาอีกทั้งเป็นผู้ที่ชนทุกชั้นให้ความเคารพ เมื่อยังไม่สิ้นกิเลสหลังจากมรณภาพไปก็จะไปบังเกิดในภูมิที่สูงกว่าสวรรค์หรือที่เรียกกันโดยทั่วไปว่า ไปเกิดเป็นพรหมในรูปแบบต่าง ๆ สำหรับชาวบ้านทั่วๆ ไปก็ถือคติว่าเมื่อประพฤติดีตามหลักของพระพุทธศาสนาแล้วสุดท้ายเมื่อสิ้นชีวิตไปก็จะได้เสวยสุขในสวรรค์เมื่อกลับมาเกิดเป็นมนุษย์อีกก็จะได้เกิดในตระกูลของคนมีศีลธรรมมีทรัพย์สินเงินทอง
อ้างอิงจาก บทความโดย คุณชนนกานต์ กองเขียว
https://www.gotoknow.org/posts/660167
สำหรับเกร็ดความรู้เกี่ยวกับ พิธีศพอย่างล้านนา ทางคณะผู้จัดงาน “อาลัย เดือนลับฟ้า สู่สรวง” จะนำเสนอตอนต่อไป ในเรื่องความเชื่อของชาวล้านนาเกี่ยวกับชีวิตหลังความตาย
โปรดติดตามได้ในเวบไซต์ www.chaoduangduen.com